ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มธ. กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เริ่มเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานมนุษย์ และผลผลิตจากปัญญาประดิษฐ์ยังสามารถควบคุมจำนวนและคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการ ซึ่งสามารถแบ่งบทบาทการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ได้ 3 ระดับ ได้แก่ 1. ทำงานแทนสมองของมนุษย์ รูปแบบการทำงานเพื่อการตัดสินใจแทนมนุษย์ เช่น การใส่ข้อมูลอาการป่วยของผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยโรค แต่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากและเพียงพอ จึงจะสามารถวินิจฉัยหรือตัดสินได้อย่างแม่นยำ 2. ทำงานแทนคำพูดของมนุษย์ รูปแบบการทำงานเพื่อโต้ตอบกับมนุษย์ เช่น ระบบตอบรับอัตโนมัติหรือแชทบอท (Chatbot) ที่สามารถตอบโต้เพื่อให้ข้อมูลกับมนุษย์คู่สนทนา แต่สามารถให้ข้อมูลที่ได้รับการบันทึกไว้เท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ไม่เคยถูกบันทึกหรือซับซ้อนได้ 3. ทำงานแทนการกระทำของมนุษย์ รูปแบบการทำงานเพื่อทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์หรือแขนกลในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคัดแยกส่วนที่เน่าเสียหายหรือไม่ผ่านมาตรฐานในอุตสาหกรรมการเกษตร ตามข้อมูลที่มนุษย์ได้บันทึกไว้ หรือแขนกลเพื่อช่วยเหลือการผ่าตัดของศัลยแพทย์ในบางส่วน แต่ยังไม่สามารถทำการผ่าตัดแทนศัลยแพทย์ได้ทั้งหมด
แม้ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้ามาทดแทนในส่วนงานที่ไม่ซับซ้อนหรือส่วนงานที่ใช้เพียงทักษะพื้นฐานเท่านั้น แต่ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี ส่งผลในอนาคตปัญญาประดิษฐ์สามารถพัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนการทำงานที่ซับซ้อนของมนุษย์ได้ แรงงานมนุษย์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งทักษะเฉพาะด้านและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้สอดคล้องไปกับความต้องการของตลอดแรงงานในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวเสริมว่า การเติบโตของหุ่นยนต์เอไอ ถือเป็นเครื่องสะท้อนความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเด่นชัด จากการเข้ามามีบทบาทด้านการประหยัดเวลา และลดการใช้แรงงานมนุษย์ได้หลายเท่าตัว อาทิ การประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ และการไถ่พรวนดินในนาข้าว จึงเป็นสิ่งที่สังคมไม่อาจปิดกั้นการใช้หุ่นยนต์เอไอทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้ แต่ทั้งนี้ หุ่นยนต์ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ 100 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะในเรื่องของจิตใจและความจริงใจ ที่เป็นหัวใจสำคัญของงานบริการ ที่ต้องใช้ความจริงใจในการสื่อสารกับผู้รับบริการ รวมถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ ที่ต้องอาศัยทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ของมนุษย์เป็นพื้นฐาน ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหุ่นยนต์เอไอ อาจเข้ามามีบทบาทที่ใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น ในมิติของการทำงานร่วมกันแบบพาร์ทเนอร์ (Partner) ที่มีส่วนช่วยให้การค้นคว้าวิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้มีเพียงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม หุ่นยนต์ เครื่องทุ่นแรงมาเพื่อทดแทนการใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ตามนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จะเป็นการมุ่งพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็น "ผู้จ้างงาน" หรือเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานของผู้อื่น มากกว่าเป็นผู้วิ่งหางานในตลาดแรงงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ "SCI+BUSINESS" ที่เน้นให้บัณฑิตสามารถบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับหลักการทางธุรกิจเป็นพื้นฐาน ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาธุรกิจ รวมถึงนวัตกรรมเพื่อสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล รศ.ดร.สมชาย กล่าว
โดยล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. เตรียมเปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรสายพันธุ์ใหม่รวม 5 หลักสูตร เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) และพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของสังคม รวมถึงผู้ประกอบการสายพันธุ์ใหม่ให้แก่ประเทศไทย ได้แก่ 1. หลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการประกอบการ (หลักสูตรนานาชาติ) 2. หลักสูตรนวัตกรรมสารสนเทศทางสุขภาพ 3. หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ 4. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหารหลักสูตรปริญญาตรี (แบบก้าวหน้า) และ 5. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล ในรอบรับตรงร่วมกัน รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 9 - 13 พฤษภาคม 2561 รศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันโลกธุรกิจจะหันมาให้ความสำคัญของเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ในการช่วยมนุษย์ทำงานมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าก็ยังมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้านอยู่ ซึ่งโลกของการทำงานหลายอาชีพยังจำเป็นต้องพึงพามนุษย์ในการขับเคลื่อนเป็นหลักอยู่ เพราะมนุษย์มีทักษะสำคัญที่เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ยังไม่สามารถเทียบเท่าได้ก็คือ 1. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพราะสมองของมนุษย์มีความซับซ้อนและมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายรูปแบบจนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ 2. ทักษะทางสังคม (Social Skills) เนื่องจากโลกใบนี้ประกอบไปด้วยผู้คนมากมาย ดังนั้นจึงต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและพึ่งพาอาศัยกัน ผ่านการสื่อสารทั้งการพูด การฟัง การแสดงออก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางบวกให้เกิดขึ้น และ 3. ทักษะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เพราะมนุษย์มีความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น และใช้ในการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ ได้ ซึ่งเห็นได้ว่าทักษะเหล่านี้ล้วนเกิดจากการเรียนรู้โดยธรรมชาติของมนุษย์เป็นทุนเดิม ถือเป็นจุดแข็งของมนุษย์ที่เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถทำได้ดีในระดับเทียบเท่า แม้การพัฒนาของเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์จะมีความก้าวหน้ามากขึ้นก็ตาม ดังนั้นมนุษย์มีความจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้โลกการทำงานในอนาคตของทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit