นายปิยพงศ์ เผ่าวณิช ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยชียอาคเนย์ (Southeast Asia University) ได้เปิดตัวระบบ SAU Learning Board ในงาน Education ICT Forum 2018 โดยระบบนี้เป็นแพลทฟอร์มสำหรับสร้างสื่อการเรียนที่ตอบโจทย์หลากหลายความต้องการในการสอนของครูและอาจารย์ผู้สอนที่แตกต่างกัน ด้วยเทคโนโลยีนี้ผู้สอนสามารถบันทึกวีดีโอการเรียนการสอนเพื่อเก็บไว้ในระบบ e-learrning ที่มีอยู่เดิมได้ทันที หรือหากต้องการผลิตสื่อแบบเรียลไทม์เพื่อสอนสดผ่านอินเตอร์เน็ตก็สามารถทำได้ทันทีด้วยฟีเจอร์ออกอากาศสดผ่าน Youtube Live หรือ Facebook Live ระบบSAU Learning Board มีฟีเจอร์พิเศษที่สามารถดึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอแท็บเล็ตหรือหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้มาปรากฏเป็นฉากหลังประกอบการเรียน และฉายภาพผู้สอนลงบนจอภาพได้ตลอดเวลา ทำให้นักเรียนมองเห็นหน้าผู้สอนได้ตลอด และผู้สอนยังสามารถเขียนโน๊ตลงบนกระดานให้ไปปรากฏบนจอเหล่านี้ได้หมด โดยจอภาพที่สามารถนำมาแสดงผลนั้นรองรับทุกค่ายระบบปฏิบัติการในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นWindows หรือ Mac OS, iOS หรือ Android และสามารถซ้อนภาพได้ถึง 4 เลเยอร์ จึงอำนวยความสะดวกในการผลิตสื่อการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี
ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า ระบบที่เปิดตัวในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ความต้องการนักเรียนที่มุ่งไปสู่การเรียนออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการของครูและอาจารย์ที่ต้องการนำภาพหน้าจอของโปรแกรมต่าง ๆ มาให้นักเรียนเห็นเพื่อประกอบการสอน เช่น การสอนเขียนโปรแกรม สอนการเขียนแอนิเมชัน หรือเปิดบราวเซอร์เช็คอินเตอร์เน็ตเพื่อดูข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทำให้การสร้างเนื้อหาการเรียนทำได้อย่างสะดวก เช่น หากสอนวิชานิติศาสตร์ ก็สามารถเปิดข่าวที่น่าสนใจในทางกฏหมาย เพื่อให้นักเรียนนำมาพิจารณาประกอบการเรียนกฏหมายได้ และครูผู้สอนสามารถปรากฏตัวเข้าไปอยู่ในเนื้อหาข่าวสารได้ทันที หรือหากนำไปสอนด้านไอทีเช่นการพัฒนาโปรแกรมก็ยิ่งสะดวก เพราะต้องแสดงหน้าจอให้นักเรียนเห็นมากกว่าหนึ่งจอ เช่น แสดงหน้าจอเครื่องที่เขียนโปรแกรม หน้าจอเครื่องที่ลงระบบฐานข้อมูล หน้าจอเครื่องที่ทำหน้าที่เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ โดยในระหว่างสอนก็สามารถคลิ๊กสั่งงานเพื่อสลับจอไปมาได้สะดวกตลอดเวลาผ่านการกดจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ และไม่ต้องอาศัยผู้ช่วยสอนแม้แต่คนเดียว เมื่อพร้อมเริ่มบันทึกภาพการสอนผู้สอนสามารถสั่งงานควบคุมผ่านการแตะหน้าจอโทรศัพท์ เพื่อเริ่มบันทึกภาพลงในเซิร์ฟเวอร์ได้ทันที ระบบ SAU Learning Board มีข้อดีที่ครูและอาจารย์ที่ถนัดเขียนกระดาน ก็ยังคงสามารถใช้กระดานเขียนปกติ โดยสิ่งที่เขียนจะปรากฏบนจอภาพที่ต่อไว้ล่วงหน้าได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้นการวาดรูปบนหน้าจอ การเน้นจุดที่ควรสนใจในจอ การเขียนคอมเมนท์ในจอ สามารถทำได้สะดวกอย่างที่ไม่มีระบบใดเคยทำได้มาก่อน ข้อดีของระบบนี้คือ การผลิตสื่อทำได้หลากหลายรูปแบบ ไร้ข้อจำกัดในการดึงหน้าจอจากอุปกรณ์ต่าง ๆ และนักเรียนหรือนักศึกษาจะเห็นหน้าครูและอาจารย์ผู้สอนตลอดเวลา
อาจารย์ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่าระบบ SAU Learning Board ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจากโครงการที่ทางNorth Western University ได้เป็นต้นคิด และทางมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ได้นำมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มความสามารถให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยการเปิดตัวในงาน Education ICT Forum 2018 , งานHealthcare Technology Summit 2018 และ งาน Innovative School 2018 มีผู้เข้าชมได้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเพราะปัจจุบันมีห้องว่างที่เตรียมพร้อมสำหรับผลิตสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ยังขาดระบบที่ลงตัวอยู่ และระบบ SAU Learning Board สามารถตอบโจทย์นี้ได้ด้วยงบประมาณไม่สูงมาก โดยระบบมีอุปกรณ์ให้พร้อมเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟ ระบบเสียง ระบบแสง ระบบเน็ตเวิร์ค ระบบตัดต่อภาพ ระบบสถานีออกอากาศในห้องส่ง ระบบตัดต่อภาพระดับเดียวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ระบบต่อเชื่อมเพื่อออนไลน์สดผ่าน Youtube Live หรือ Facebook Live รวมไปถึงฮาร์ดแวร์ที่เป็นเซิร์ฟเวอร์รองรับการบันทึกข้อมูลวีดีโอการสอน พร้อมคอมพิวเตอร์อีกเครื่องที่มาพร้อมปากกาเซ็นเซอร์ที่เขียนลงบนหน้าจอได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ระบบ SAU Learning Board จะทำให้ห้องเรียนธรรมดากลายเป็นห้องสตูดิโอที่สมบูรณ์ด้วยเงินลงทุนได้ในราคาไม่เกิน 3 แสนบาท ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีสื่อการสอนใหม่ ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการสอนได้ที่ http://learningboard.sau.ac.th โดยขณะนี้ระบบ SAU Learning Board พร้อมให้บริการติดตั้งห้องสตูดิโอและอบรมวิธีการใช้งานทั้งหมดในรูปแบบครบวงจรถึงสถานที่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit