ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “บ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” ที่ “A-/Stable”

25 Apr 2018
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งในกลุ่มทิสโก้ของบริษัทซึ่งมีอำนาจในการบริหารงานและการได้รับเงินปันผลผ่านการถือหุ้น 99.99% ในธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงรายได้เงินปันผลที่มั่นคงจากธนาคารทิสโก้ซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนแหล่งรายได้ที่หลากหลายและฐานเงินทุนที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่ธนาคารทิสโก้มีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินรับฝากที่มีขนาดเล็ก ตลอดจนการมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และการที่ธนาคารต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สถานะความเป็นบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มธุรกิจการเงิน

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัททิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ ("A") ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักของกลุ่มอยู่ 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงการด้อยสิทธิในเชิงโครงสร้าง โดยสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของบริษัทจะด้อยกว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ของธนาคารทิสโก้ นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการที่บริษัทต้องพึ่งพิงรายได้เงินปันผลจากธนาคารทิสโก้เป็นหลัก รวมทั้งการกำกับดูแลจากทางการซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของธนาคารทิสโก้ในการจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทด้วย

แหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลาย

กลุ่มทิสโก้มีสถานะทางธุรกิจที่ค่อนข้างมั่นคงจากธุรกิจที่มีความหลากหลาย ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจวาณิชย์ธนกิจ และธุรกิจบริหารกองทุน

กลุ่มทิสโก้มีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 8 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น 11 แห่งในปี 2560 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.2% และเงินรับฝาก 1.6% รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิและเงินปันผลมีสัดส่วน 62.9% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีสัดส่วน 37.1% ในปี 2560 ค่าธรรมเนียมสุทธิมีสัดส่วน 33.2% ของรายได้รวม อันประกอบด้วยค่านายหน้าขายประกัน ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และบริหารกองทุน

ธุรกิจลูกค้ารายย่อยจาก SCBT ส่งเสริมสถานะทางธุรกิจ

กลุ่มทิสโก้ได้ซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT) ในปี 2560 ซึ่งประกอบไปด้วยการโอนสินเชื่อมูลค่า 33.7 พันล้านบาท และเงินฝากมูลค่า 14.6 พันล้านบาทมาที่ธนาคารทิสโก้และ บริษัท ออลเวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม กว่า 31.4 พันล้านบาทเป็นสินเชื่อรายย่อยอันประกอบด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อที่ใช้บ้านเป็นหลักประกัน สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2.2 พันล้านบาทเป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises – SMEs) สำหรับเงินฝากส่วนใหญ่เป็นเงินฝากรายย่อยประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account Savings Account – CASA)

ธุรกิจที่รับโอนมาสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นธุรกิจรายย่อยของบริษัท ในขณะที่มีการขยายธุรกิจอื่น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป การเข้าถึงกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่ใช้บ้านเป็นหลักประกัน รวมถึงฐานลูกค้าเงินฝากที่กว้างขึ้น จะเพิ่มสถานะทางการแข่งขันของธุรกิจลูกค้ารายย่อย บริษัทยังคงมองหาโอกาสจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการบริหารความมั่งคั่งของกลุ่มให้แก่ฐานลูกค้าใหม่

พอร์ตสินเชื่อที่กระจายตัวมากขึ้นยังช่วยลดการพึ่งพาของกลุ่มจากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ณ สิ้นปี 2560 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วน 50.6% ของสินเชื่อรวม ลดลงจาก 61.1% ในปีก่อน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 20.1% และ 6.0% ตามลำดับ สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วน 8.3% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในปีก่อน ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมุ่งเน้นการใช้ความชำนาญในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อค้ำประกันทะเบียนรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง

สถานะเงินทุนและรายได้ที่เข้มแข็ง

บริษัทมีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel-III อยู่ที่ระดับ 14.96% เป็นสัดส่วน 77% ของเงินกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2560 ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมีอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 50-60%

ความสามารถในการหารายได้ของกลุ่มทิสโก้มีอยู่อย่างเพียงพอที่จะรองรับสภาวะความผันผวนตามวัฏจักรธุรกิจได้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถือว่าสูงกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ระดับ 2.31% ในปี 2560 สัดส่วนรายได้ที่เป็นค่าธรรมเนียมและบริการของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น

คุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มทิสโก้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ต้นทุนทางเครดิตของกลุ่มลดลงเหลือ 1.3% ในปี 2560 จากระดับสูงสุดที่ 2.1% ในปี 2558 ทิสโก้ยังคงนโยบายเพิ่มการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบจากการใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 อัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากสู่ระดับ 183.6% ณ สิ้นปี 2560 จากจุดต่ำสุดที่ระดับ 80.1% ณ สิ้นปี 2558

แม้ว่าพอร์ตสินเชื่อจาก SCBT มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมสูงกว่า แต่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของกลุ่มก็ยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ลดลงอย่างมากของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจากระดับ 3.22% ในปี 2558 สู่ระดับ 2.32% ในปี 2560 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย

มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมสูง

อันดับเครดิตของบริษัทถูกจำกัดโดยสถานะแหล่งเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็กจะมีสัดส่วนของฐานเงินฝากรายย่อยที่ค่อนข้างเล็กในขณะที่มีการพึ่งพาแหล่งเงินจากการกู้ยืมในระดับสูง ในขณะที่สัดส่วนของการกู้ยืมในระดับที่สูงของบริษัทสะท้อนถึงกลยุทธ์การระดมเงินจากแหล่งเงินทุนที่มีความยืดหยุ่นสูง

อย่างไรก็ตาม เงินฝากจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ได้รับโอนจาก SCBT เป็นปัจจัยเสริมสถานะเงินทุนของกลุ่ม สัดส่วนเงินฝากต่อแหล่งเงินทุนรวมเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 70.7% ณ สิ้นปี 2560 จาก 67.3% ในปีก่อน สัดส่วน CASA ต่อเงินฝากก็เพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 35.9% สู่ระดับ 37.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากซึ่งลดลงสู่ระดับ 139.4% ในปี 2560 จากระดับ 145.4% ในปีก่อนก็จัดว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารทิสโก้จะยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจลูกค้ารายย่อย และมีฐานเงินทุนและสถานะด้านรายได้ที่มีความแข็งแกร่ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง รวมถึงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่ถดถอยลงอย่างรุนแรง ในขณะที่อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของธนาคารทิสโก้ในการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างยั่งยืน รวมถึงขยายพอร์ตสินเชื่อให้หลากหลายมากขึ้น และเพิ่มความสามารถในการระดมเงินจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO)

อันดับเครดิตองค์กร:

A-

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Stable