ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ธนาคารพาณิชย์ผนวกกับธุรกิจตลาดทุนแข็งแกร่ง
สถานะทางธุรกิจของธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทย่อยภายใต้ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) (กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) สะท้อนถึงธุรกิจที่มีความหลากหลาย โดยกลุ่มธุรกิจได้แบ่งสายงานทางธุรกิจตามเป้าหมายกลยุทธหลัก ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจ Private Banking และธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Banking)
ธุรกิจสินเชื่อคาดว่าจะยังคงสัดส่วนรายได้สูงที่สุดในระยะปานกลาง ในขณะที่ทางกลุ่มได้มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจที่ไม่ได้มากจากการปล่อยสินเชื่อ ส่วนธุรกิจ Private Banking ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง เป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทางกลุ่มยังมีธุรกิจวาณิชธนกิจและธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่ง การเกื้อหนุนระหว่างธุรกิจในกลุ่มที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงมุ่งเน้นช่องทางร่วมในการให้บริการ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ และการรวมฐานการดำเนินงาน
ธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็ก ณ สิ้นปี 2560 ธนาคารมีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 10 จากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งสิ้น 11 แห่ง ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 1.7% และเงินรับฝาก 1.1%
ธนาคารและบริษัทย่อยมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย แม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงต่อความผันผวนของธุรกิจตลาดทุนสูง สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 63.3% และ 36.7% ตามลำดับของรายได้รวมในปี 2560 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกลุ่ม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมีสัดส่วน 24.1% ของรายได้รวม
การปล่อยสินเชื่อที่กระจายตัวมากขึ้น
ธนาคารมุ่งเน้นการลดการพึ่งพาการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สู่การปล่อยสินเชื่อที่หลากหลายมากขึ้น ในปี 2560 สินเชื่อรวมเติบโตในระดับ 9.3% หลังจากหดตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ Lombard และสินเชื่อบุคคลที่ให้ผลตอบแทนสูง ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในปีที่ผ่านมา ในทางกลับกัน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัวลง
ณ สิ้นปี 2560 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วน 56.9% ของสินเชื่อรวม ลดลงจาก 66.7% ในปีก่อน กว่า 56% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นสินเชื่อรถมือสอง
ธนาคารเกียรตินาคินมีเป้าหมายที่จะทยอยเพิ่มสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าวาณิชย์ธนกิจ รวมถึงผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.2% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับ 3.9% ในปีก่อน ในขณะที่สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังคงอยู่ที่ระดับ 23% ของสินเชื่อรวม โดยประมาณ 15% ของสินเชื่อรวมเป็นสินเชื่อให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ผลกำไรที่ดีสนับสนุนการเพิ่มฐานทุน
ธนาคารเกียรตินาคินมีสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามเกณฑ์ Basel-III อยู่ที่ระดับ 14.6% เป็นสัดส่วน 83% ของเงินกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2560 ทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการรองรับการเติบโตของธุรกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 50-60%
ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งสนับสนุนการเพิ่มฐานทุนของกลุ่ม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ระดับ 2.34% ในปี 2560 อยู่ในกลุ่มที่มีระดับสูงที่สุดในอุตสาหกรรม อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาร่วมกับที่มาของผลกำไรที่หลากหลาย ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรอย่างเพียงพอที่จะรองรับสภาวะความผันผวนตามวัฏจักรธุรกิจได้
ความคืบหน้าจากการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ไปในทางที่ดีขึ้น
ในความเห็นของทริสเรทติ้ง ธนาคารเกียรตินาคินมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามของกลุ่มในเพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้พยายามแก้ปัญหาหนี้เสียคงค้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ของกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เดิม และในขณะเดียวกันก็ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือทางเครดิตสูงขึ้น ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อที่กระจายตัวมากขึ้นซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อยที่มีความหลากหลายจะมีส่วนช่วยจำกัดความเสี่ยงทางเครดิตในอนาคตได้
ต้นทุนทางเครดิตโดยรวม ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.8% ในปี 2560 จากจุดสูงสุดที่ 2.8% ในปี 2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ก็ลดลงเหลือ 5.00% ณ สิ้นปี 2560 จาก 5.85% ณ สิ้นปี 2558 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจก่อสร้างลดลงมาที่ระดับ 19.6% ณ สิ้นปี 2560 จาก 23.4% ในปีก่อน ซึ่งหนี้ที่มีปัญหาเหล่านี้เป็นหนี้มูลค่าขนาดใหญ่ที่มีหลักประกันให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่กี่ราย
สถานะเงินทุนอ่อนแอ สภาพคล่องเพียงพอ
อันดับเครดิตของธนาคารเกียรตินาคินถูกจำกัดโดยสถานะแหล่งเงินทุน ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็กจะมีสัดส่วนของฐานเงินฝากรายย่อยที่ค่อนข้างเล็กในขณะที่มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมในระดับสูง สัดส่วนของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account and Savings Account – CASA) ต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงสูงอยู่ที่ระดับ 40.6% ณ สิ้นปี 2560 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ประมาณ 60% เงินกู้ยืมอยู่ที่ระดับ 28.6% ของแหล่งเงินทุนรวม สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 5.8% อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินก็อยู่ในระดับสูงที่ 145%
ธนาคารพยายามสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มลูกค้าธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งการขยายตัวของฐานเงินฝากรายย่อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้จะสามารถเสริมสถานะทางแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ในระยะยาว
สภาพคล่องของธนาคารจัดว่าอยู่ในระดับเพียงพอด้วยอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินและรายการระหว่างธนาคารที่ระดับ 35.4% ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III
อันดับเครดิต "BBB" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (KK25DA) สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้ภายหลังระยะเวลา 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. โดยผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวสามารถตัดเป็นหนี้สูญได้ ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร ภายใต้เงื่อนไขที่ได้ระบุไว้
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" สะท้อนถึงความคืบหน้าของธนาคารในการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ไปในทางที่ดีขึ้น การยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยง การเกื้อหนุนระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจตลาดทุน รวมถึงพอร์ตสินเชื่อที่มีการกระจายตัวมากขึ้น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาหนี้เสียคงค้างอย่างต่อเนื่อง และดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างระมัดระวัง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของธนาคารเกียรตินาคินจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และรักษาต้นทุนทางเครดิตให้อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับปัจจุบัน และคาดหวังว่าธนาคารจะรักษาสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งและเพิ่มการกระจายตัวของพอร์ตสินเชื่อให้มากขึ้น
ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)
อันดับเครดิตองค์กร:
A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KK187A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 240 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561
A-
KK18DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561
A-
KK18DB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561
A-
KK202A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563
A-
KK203A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563
A-
KK25DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568
BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต:
Positive
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit