โดยตุลาคมปีที่แล้วน้องๆ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 20 ทีม จากทั่วประเทศได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 และได้รับความรู้ เครื่องมือ ทักษะ และกลไกที่ใช้ในการออกแบบบอร์ดเกมกลับไปเพื่อสร้างเกมต้นแบบขึ้นจากปัญหาในพื้นที่ของแต่ละทีม ปลายเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมานี้ทั้ง 20 ทีมกลับมาพบกันอีกครั้งพร้อมกับนำบอร์ดเกมต้นแบบทั้ง 20 เกมที่ได้ออกแบบไว้แล้ว มาเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นครั้งที่ 2 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเกมในขั้นถัดไป แต่เส้นทางของสร้างนักพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อสังคมนั้นไม่ง่าย โครงการฯ จึงได้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมนักพัฒนาบอร์ดเกม (gamer) แถวหน้าของประเทศไทยที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการมาตั้งแต่ต้นในการเป็นทั้งโคชและพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ และยังมีทีมอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้คำแนะนำเกี่ยวกับเนื้อหา ที่น้องๆ ต้องการสื่อสารผ่านเกม ซึ่งในการอบรมครั้งนี้ทั้ง 20 ทีมต้องนำบอร์ดเกมต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมาทดลองเล่นจริง ไฮไลต์พิเศษจึงเป็นการ Test Game ที่เปิดให้อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาทดลองเล่นเกมพร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแก่น้องๆ อย่างตรงไปตรงมา และตลอดการอบรมที่ผ่านมาน้องๆ ทั้ง 20 ทีมต่างอยู่กับกระบวนการเล่นเกม-รับฟังข้อเสนอแนะ-ปรับปรุงเกม วนไปอย่างนี้จนกระทั่งผลงานที่พัฒนาขึ้นนั้นเข้าใกล้คำว่าเกมเพื่อแก้ปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
ทางด้าน พี่ต๊อง "รัตติกร วุฒิกร" จาก Club Creative Co.,Ltd ที่มาเป็นวิทยากรหลักครั้งนี้ บอกว่าการพัฒนาเกมนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะพัฒนาเกมที่สามารถแก้ปัญหาสังคมอย่างได้ผลนั้นมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง เพราะไม่ใช่แค่เกมที่เล่นแล้วรู้สึกสนุกเท่านั้น ใจความอยู่ที่เนื้อหาที่ต้องการสื่อสารออกไปโดยใช้เกมเป็นเครื่องมือ เกมสามารถสื่อสารเนื้อหาได้เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง แต่เกมมีองค์ประกอบมากกว่าหนังสือ เพราะเวลาอ่านหนังสือเราเข้าใจและสังเคราะห์ข้อมูลคนเดียว แต่เกมเหมือนหนังสือที่เราอ่านด้วยกันและแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเนื้อหาจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับคนที่เราเล่นด้วย ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับก็ต่างออกไป แต่ถ้าลงลึกไปถึงว่าเกมจะแก้ปัญหาสังคมได้จริงไหมนั้นขึ้นอยู่กับผู้เล่นแต่ละคน บางคนแค่เล่นเกมก็เปลี่ยนได้เลย แต่กับบางคนต้องใช้เกมเป็นเครื่องมือไปต่อยอดกระบวนการอื่นเพื่อช่วยให้ผู้เล่นตกผลึกและเกิดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงอีกที
แนวโน้มเกมของน้องๆ ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่การจะออกแบบเกมเพื่อแก้ปัญหาสังคมนั้นใจความหลักคือคนออกแบบเกมต้องเป็นคนที่รู้เรื่องนั้นจริงๆ เพราะเราก็เหมือนครูเราไม่สามารถสอนเด็กบวกเลขได้ ถ้าเรายังบวกเลขไม่เป็น ความชัดเจนของเนื้อหาจึงสำคัญ นอกจากต้องรู้ดีว่าการจะสื่อสารอะไรแล้ว ก็ต้องรู้ด้วยว่าจะสื่อสารเรื่องนั้นกับใคร เพราะการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เล่น จะช่วยการันตีว่าองค์ความรู้ หรือประสบการณ์เหล่านั้นที่ผู้เล่นได้รับ จะติดอยู่ในตัวผู้เล่นนานกว่าการเรียนในห้องเรียน การบอกให้ทำ หรือการอ่านแต่ในหนังสือแน่นอน
ทางด้านคุณ "พิภพ พิทักษ์ศิลป์" จากบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมในฐานะผู้สนับสนุนโครงการด้วยว่า ระหว่างทางที่น้องๆ แต่ละทีมได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ในโครงการนั้นเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้ง่ายๆ เพราะการจัดอบรมแต่ละครั้งจะมีวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญมาเติมความรู้ และเสริมแง่มุมทางความคิดใหม่ๆ ให้กับน้องๆ เสมอ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะสร้างทักษะที่ติดตัวน้องๆ ไปสู่ชีวิตประจำวันแน่นอน
ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วนจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 ของโครงการออกแบบเกมออกแบบสังคมที่เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้วเท่านั้น สิ่งที่ทั้ง 20 ทีมยังคงต้องทำต่อไปคือการนำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับกลับไปพัฒนาและปรับปรุงเกมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้บอร์ดเกมที่มีความพร้อมที่สุดสำหรับการเปิดตัวต่อสาธารณะในงาน Games & Learn Festival ในช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคม 2561 นี้ ส่วน 20 บอร์ดเกมแก้ปัญหาสังคมที่ว่านี้จะมีอะไรบ้าง รายละเอียดงานจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ที่ Facebook : tu.banpu
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit