แต่อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อาทิ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูง ประสบภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น มีสาเหตุมาจากเกษตรกรไทยยังขาดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ขาดความรู้ 2) ขาดเงินทุน และ 3) ไม่มีตลาดรองรับ จึงกำหนดนโยบาย "ตลาดนำการผลิต " ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย บูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งตัวอย่างจังหวัดที่นำนโยบายนี้ไปปฏิบัติและสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี ได้จัดพิธีลงนาม MOU ตามพันธะสัญญานำร่อง "การตลาดนำการผลิต" ระหว่างโรงพยาบาลกับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ ในการจัดซื้อรายการอาหาร ประเภท ข้าวสาร พืชผัก และผลไม้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร หรือการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (SMEs) เพื่อหาตลาดและสร้างอำนาจการต่อรองด้านราคาให้กับเกษตรกร ขณะนี้เชื่อมโยงสหกรณ์ 518 แห่ง กับภาคเอกชน 109 แห่ง และมีสหกรณ์ 55 แห่ง ส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศ รวม 28 ประเทศ ทำให้เกิดการซื้อขายผลผลิตเกษตร รวม 818,873 ตัน มูลค่า 17,009 ล้านบาท
ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อาทิ ยางพารา กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการยางพาราควบคุมการผลิตราคายางพารา พร้อมเรียก 4 ประเทศผู้ผลิตยางหารือแนวทางใหม่เพื่อลดการกรีดยาง สำหรับมาตรการหยุดกรีดยาง ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังหาแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ระหว่างชะลอการกรีดยางหรือหยุดกรีดยาง ขณะที่การส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ ปัจจุบันมีหลายจังหวัดเริ่มดำเนินการใช้ยางทำถนนแล้ว เช่น จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสงขลา เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit