ปภ.รายงานมีจังหวัดได้รับผลกระทบจากวาตภัย 20 จังหวัด พร้อมประสานภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 26 – 28 เม.ย. 61

26 Apr 2018
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย รวม 20 จังหวัด 45 อำเภอ 72 ตำบล 136 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,042 หลังคาเรือน 1,384 คน ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือน และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนแล้ว พร้อมประสานภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 26 – 28 เมษายน 2561

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 23 – 25 เมษายน 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย รวม 20 จังหวัด 45 อำเภอ 72 ตำบล 136 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,042 หลังคาเรือน 1,384 คน แยกเป็น

ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เกิดวาตภัยในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฮอด อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอดอยเต่า อำเภอฝาง และอำเภอแม่แจ่ม รวม 8 ตำบล 9 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 30 หลัง 55 คน พิจิตร เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอดงเจริญ รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 11 หลัง 29 คน ลำพูน เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง รวม 1 ตำบล 7 หมู่บ้าน พะเยา เกิดวาตภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอจุน และอำเภอดอกคำใต้ รวม 8 ตำบล 25 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 437 หลัง 524 คน เชียงราย เกิดวาตภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ลาว อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอพาน รวม 6 ตำบล 13 หมู่บ้าน ลำปาง เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเถิน และอำเภอห้างฉัตร รวม 2 ตำบล 9 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 200 หลัง 240 คน กำแพงเพชร เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอคลองลาน รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1 หลัง 3 คน น่าน เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอเวียงสา รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 7 หลัง 11 คน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอหว้านใหญ่ รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 32 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบ 64 คน ศรีสะเกษ เกิดวาตภัยในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอภูสิงห์ อำเภอไพรบึง อำเภอโนนคูณ และอำเภอพยุห์ รวม 14 ตำบล 18 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 68 หลัง 86 คน เลย เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอท่าลี่ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 12 หลัง 40 คน อุดรธานี เกิดวาตภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกู่แก้ว อำเภอหนองหาน อำเภอเมืองอุดรธานี และอำเภอน้ำโสม รวม 9 ตำบล 11 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 54 หลัง 72 คน อุบลราชธานี เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอน้ำยืน รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 50 หลัง 60 คน บึงกาฬ เกิดวาตภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีวิไล อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง และอำเภอบุ่งคล้า รวม 7 ตำบล 17 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 71 หลัง 85 คน มหาสารคาม เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอวาปีปทุม รวม 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน หนองบัวลำภู เกิดวาตภัยในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีบุญเรือง และอำเภอเมืองหนองบัวลำภู รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 40 หลัง 52 คน สุรินทร์ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอปราสาท รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 4 หลัง 8 คน ขอนแก่น เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอแวงใหญ่ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 10 หลัง 16 คน บุรีรัมย์ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 7 หลัง 13 คน และสกลนคร เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอส่องดาว รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3 หลัง 10 คน

ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนแล้ว ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจเกิดพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 26 – 28 เมษายน 2561 ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศ ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป