ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บล. ภัทร” ที่ “A-” และเปลี่ยนแนวโน้ม เป็น “Positive” จาก “Stable”

26 Apr 2018
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรระดับ "A-" ของ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักสำคัญของธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต "A-/Positive" จากทริสเรทติ้ง) เนื่องจาก บล. ภัทร สร้างผลกำไรอย่างมีนัยสำคัญและมีความใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทรเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Positive" หรือ "บวก" จาก "Stable" หรือ "คงที่" โดยการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเป็นไปตามอันดับเครดิตของธนาคารแม่ หรือธนาคารเกียรตินาคิน เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทและของธนาคารเกียรตินาคินมีความเชื่อมโยงกัน

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทดังกล่าวยังสะท้อนถึงการกระจายตัวดีของแหล่งรายได้ พื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในกลุ่มลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคลรายใหญ่ ตลอดจนความเป็นผู้นำในธุรกิจวาณิชธนกิจและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งอย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันต่ออัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดก็มีผลต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

การเป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของธนาคารเกียรตินาคิน

บล. ภัทรมีสถานะเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เนื่องจากบริษัทสร้างกำไรโดยเฉลี่ย 18% ของกำไรสุทธิของกลุ่มในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งถือเป็นการสร้างกำไรให้แก่กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ โดยหลังจากที่บริษัทได้กลายมาเป็นบริษัทลูกของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บริษัทก็ได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและด้านการเงินจากธนาคารเกียรตินาคิน อีกทั้งยังได้ขยายฐานลูกค้าโดยใช้ฐานลูกค้าของธนาคารด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ การเป็นบริษัทลูกของธนาคารเกียรตินาคินทำให้บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจำนวนมาก ซึ่งแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมนี้ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานให้แก่บริษัท

การกระจายตัวดีของแหล่งรายได้

บล. ภัทรมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวดี โดยสัดส่วนรายได้ค่านายหน้าในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็น 48% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 61% ในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนรายได้ค่านายหน้าในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็น 46% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2560 การพึ่งพารายได้ค่านายหน้าในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่น้อยลงลดโอกาสของการที่รายได้ของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดและจากการปรับตัวลดลงของค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย สัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการต่อรายได้รวมของบริษัทเท่ากับ 31% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 18% ในปี 2559 ในขณะที่สัดส่วนกำไรจากเงินลงทุนและตราสารอนุพันธ์คิดเป็น 6% ของรายได้รวมปี 2560 ลดลงจาก 19% ในปี 2559

บล. ภัทรมีฐานลูกค้านักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทเน้นการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นจุดเด่นของบริษัทที่แตกต่างจากคู่แข่งในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดตามมูลค่าการซื้อขายของลูกค้าสถาบันต่างประเทศปรับตัวลดลงจาก 9.1% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 7.5% ในปี 2560 ในขณะที่ส่วนแบ่งทางตลาดของลูกค้าสถาบันในประเทศยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 9.2% ในปี 2560

ศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและประสบการณ์ในด้านวาณิชธนกิจที่แข็งแกร่ง

บล. ภัทรให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนที่เน้นลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่โดยมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายครอบคลุมสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ โดยสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำของบริษัทเติบโตขึ้น 18% จาก 3.79 แสนล้านบาทในปี 2559 มาอยู่ที่ 4.47 แสนล้านบาทในปี 2560 ทั้งนี้ การให้บริการที่แตกต่างทำให้บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับบริษัทหลักทรัพย์อื่นได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่สม่ำเสมอจากการเป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนอีกด้วย

บล. ภัทรมีประสบการณ์ในด้านวาณิชธนกิจในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน บริษัทมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นกับบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากอีกทั้งยังมีเครือข่ายให้บริการครอบคลุมทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศที่เข้มแข็งที่จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้นำทางด้านวาณิชธนกิจไว้ได้ โดยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 283 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดราว 11% ภายหลังการควบรวมกิจการกับธนาคารเกียรตินาคินทำให้ปัจจุบันบริษัทสามารถให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการระดมทุนของลูกค้า การควบรวมดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจวาณิชธนกิจของบริษัทต่อไปในระยะยาว

การได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านราคาของหลักทรัพย์และความเสี่ยงด้านเครดิตที่จำกัด

บริษัทได้มีการขยายวงเงินในธุรกิจการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่ากลยุทธ์การลงทุนของบริษัทจะมีลักษณะที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่ผันผวนตามการเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม แต่การเพิ่มขึ้นของธุรกรรมที่มีความเสี่ยงแฝงอยู่เหล่านี้ย่อมเป็นปัจจัยที่กระทบต่อความเสี่ยงโดยรวมของบริษัท ทริสเรทติ้ง คาดหวังว่าระบบบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทจะยังคงมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากธุรกิจการลงทุนของบริษัทได้

ณ สิ้นปี 2560 บล. ภัทรไม่มีลูกหนี้ด้อยคุณภาพ เนื่องจากบริษัท ไม่ได้ให้บริการเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ความเสี่ยงทางด้านเครดิตของบริษัทจึงจำกัดอยู่แค่ความเสี่ยงจากลูกหนี้จากการให้บริการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น

ความสามารถในการทำกำไรเทียบเท่ากับคู่แข่งและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำ

วัฏจักรขึ้นลงของอุตสาหกรรมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทหลักทรัพย์มีความผันผวนรวมทั้ง บล. ภัทรด้วย โดยกำไรสุทธิของบริษัทลดลง 11% จากปี 2559 มาอยู่ที่ 738.1 ล้านบาทในปี 2560 การปรับตัวลดลงของกำไรสุทธิเกิดจากรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลงเล็กน้อยและกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลง อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยตามตัวเลขที่ยังไม่ได้ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีเท่ากับ 1.44% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.63% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 3.5% ในปี 2560 อีกทั้งบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิเท่ากับ 56.7% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 64.5% โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทเท่ากับ 55% ในปี 2560

สภาพคล่องที่เพียงพอและฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง

บล. ภัทรมีวงเงินสินเชื่อจำนวนมากจากสถาบันการเงินหลายแห่ง โดยจำนวนวงเงินสินเชื่อทั้งหมดน่าจะเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและครอบคลุมความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง อีกทั้งหลังจากได้ควบรวมกับธนาคารเกียรตินาคินแล้ว บริษัทยังได้รับวงเงินสินเชื่อเป็นจำนวนไม่เกิน 25% ของเงินกองทุนของธนาคารเพื่อใช้ร่วมกับบริษัทลูกอื่น ๆ ภายในกลุ่มธุรกิจตลาดทุนอีกด้วย ดังนั้นแหล่งเงินทุนจากธนาคารมีส่วนช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางสถานะทางการเงินมากขึ้น ทั้งนี้ การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ ถือเป็นแหล่งเงินทุนอีกทางหนึ่งของบริษัทเช่นกัน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 บล. ภัทรมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 5,653 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ที่มีฐานเงินทุนใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม แม้จะมีฐานเงินทุนขนาดใหญ่ แต่บริษัทก็จัดว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วที่ค่อนข้างต่ำ โดยอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วของบริษัทอยู่ที่ 43.7% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 57.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน และอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทเท่ากับ 39.7% ในปี 2560 ทั้งนี้ การลดลงของอัตราส่วนนี้มาจากการขยายธุรกิจการลงทุนและการป้องกันความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่บริษัทให้บริการแก่ลูกค้า ณ สิ้นปี 2560 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ 32% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ระดับ 7%

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" สะท้อนถึงการที่ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเกียรตินาคิน และความเชื่อมโยงของอันดับเครดิตของธนาคารเกียรตินาคินและบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้หากสถานะด้านเครดิตของธนาคารเกียรตินาคินเปลี่ยนแปลงไป หรือสถานะในการเป็นบริษัทย่อยของ บล. ภัทรต่อกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทรเมื่อเทียบกับบริษัทย่อยอื่น ๆ ของธนาคารธนาคารเกียรตินาคินนั้นเปลี่ยนแปลงไป

บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (PHATRA)

อันดับเครดิตองค์กร:

A-

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Positive