องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้สัปดาห์สุดท้ายเดือนเมษายนของทุกปีเป็นสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโลก (World Immunization Week) โดยในปีนี้มีแนวคิดหลักคือ " Protected Together, #VaccinesWork"เน้นให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของทุกคนที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศจึงจัดงานเสวนา "ทุกภาคส่วนร่วมใจ หยุดโรคภัยด้วยวัคซีน" #VaccinesWork เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของวัคซีน และร่วมเป็นหนึ่งพลังของการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกคนในสังคม ปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ณ ห้องสยามบอลรูม โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านกุมารเวชกรรม กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า.. จากการสำรวจภาพรวมความครอบคลุมการได้รับวัคซีนทุกชนิดในกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนและในวัยเรียนของประเทศ มีระดับสูง ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 แต่ยังมีบางส่วนของเด็กกลุ่มเป้าหมาย ที่ไม่ได้รับวัคซีนด้วยสาเหตุจาก 1) ด้านผู้ปกครอง เช่น ติดภารกิจ จำวันนัดไม่ได้ ความไม่เข้าใจในประเด็นเรื่องวัคซีน เป็นต้น 2) ด้านระบบการนัด ที่อาจไม่ได้นัด หรือ นัดคลาดเคลื่อน 3) ด้านการเข้าถึงวัคซีน เช่น อยู่ห่างไกล หรือ อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ เปิดเผยต่อว่า.. โดยเฉพาะการพบปัญหาความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในประชากรกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม คือ 1) ประชากรเคลื่อนย้ายทั้งแรงงานไทยและต่างด้าว 2) ประชากรที่อยู่ในพื้นที่สูงชายแดนทุรกันดารชาวเขาและห่างไกลจากการเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุข 3) ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ที่ด้วยเหตุใดก็ตาม มีระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีประวัติการเกิดการระบาดของโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน 4) ประชากรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ จากสภาพปัญหาดังกล่าวเห็นได้ว่ายังมีโอกาสเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเกิดการระบาดของโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่มีแนวโน้มลดลง หรือหมดไปแล้วกลับมาระบาดจนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขได้อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้การขยายความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนจึงเป็นแนวทางที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ควรร่วมมือกันพยายามผลักดันเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและบรรลุตามเป้าหมาย
ดร.ประภาภรณ์ หลังปูเต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้เล่าถึงมุมมองปัญหาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า.. ด้วยความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในพื้นที่และการจัดบริการที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ทำให้เกิดข้อจำกัดและส่งผลให้ความครอบคลุมของวัคซีนในพื้นที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรผู้ให้บริการในพื้นที่เกี่ยวกับการให้วัคซีน การติดตาม ควบคุมกำกับ และการนัดหมายให้ประชาชนมารับวัคซีนตามระยะเวลา แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่เท่าที่ควร เป็นไปได้ว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการให้ข้อมูลแบบรอบด้านแก่ผู้ปกครองและบุคคลสำคัญในครอบครัว เช่น สามี หรือ ปู่ย่า ตายาย ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจพาบุตรหลานกลับมารับวัคซีนก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีนของบุตรหลาน นอกจากนี้ต้องมีการส่งเสริมให้ความรู้และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่เอง และการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นช่องทางในการหาทางออก หรือหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้กล่าวว่า..ทิศทางและนโยบายด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยนั้น มีการให้บริการวัคซีนเพื่อกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อป้องกันโรคที่มีความสำคัญ การรับวัคซีนเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูง และเสียค่าใช้จ่ายไม่มากเมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลหากเกิดโรค ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ให้บริการวัคซีนพื้นฐานฟรีในเด็กแรกเกิดไปจนถึงวัยเรียน อายุ 12 ปี จำนวน 11 โรค ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดหยอด/ชนิดฉีด (OPV/IPV) วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT) วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV) โดยสามารถขอรับบริการได้ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลทุกแห่งในเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันยังมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้รับวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นภูมิคุ้มกันซ้ำ ได้แก่ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มนักเรียนและเด็กวัยรุ่น กลุ่มวัยผู้ใหญ่-กลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด และกลุ่มผู้สูงอายุ จึงอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนมีความจำเป็นและสำคัญทุกกลุ่มอายุ นอกจากจะช่วยป้องกันโรคหรือลดความรุนแรงของโรคแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนทางด้านสุขภาพให้กับประเทศ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตัวเอง และลดปัญหาการระบาดในครอบครัว ในโรงเรียน และในชุมชนได้ ดังนั้นจึงควรติดตามข้อมูลข่าวสาร และหาโอกาสไปรับวัคซีนที่จำเป็นอยู่เสมอ
นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เล่าว่า..สปสช.โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตระหนักดีว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีประสิทธิผลมากในการป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโรคพวกแบคทีเรียและไวรัส คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงกำหนดให้วัคซีนเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนไทยแต่ละช่วงอายุจะได้รับ ทั้งนี้ประชาชนช่วงอายุใดจะได้รับวัคซีนอะไรบ้างนั้น ก็เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติและกรมควบคุมโรคแนะนำ ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถึง 11 โรค ซึ่งประชาชนไทยที่มีสิทธิสามารถรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.กฤช ลี่ทองอิน ยังบอกอีกว่า... การเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยาและภูมิคุ้มกันโรค ทำให้มีการกลับมาระบาดซ้ำของโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนในอดีตในประชากรที่อายุมากขึ้นจากการศึกษาของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับสาเหตุที่เกิดขึ้น พบว่า นอกจากการลดลงของภูมิคุ้มกันที่เคยได้รับในวัยเด็กแล้ว ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในช่วงอายุนั้นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ทั้งนี้หากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติและกรมควบคุมโรคพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นและความคุ้มค่าในการขยายการให้วัคซีนไปยังกลุ่มประชากรที่มีอายุมากขึ้น และคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบ ก็มีแนวโน้มสูงที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์ ด้านวัคซีนครอบคลุมประชากรที่มีอายุมากขึ้นพร้อมจัดหางบประมาณสนับสนุนเป็นค่าวัคซีนและค่าฉีด
นอกจากนั้น ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้มีวัคซีนชนิดใหม่ที่สามารถป้องกันโรคได้หลายชนิดมากยิ่งขึ้นรวมถึงรูปแบบใหม่ๆ ของวัคซีนผสมได้แก่ วัคซีนรวม DTP-HB-Hib วัคซีนโรต้า วัคซีน IPD วัคซีนรวม DTP-HB-Hib-IPV วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนงูสวัด และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก หากวัคซีนเหล่านี้ผ่านการพิจารณาประสิทธิผลและความคุ้มค่าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังได้กล่าวแล้ว เห็นว่า สปสช.โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็น่าจะยินดีพิจารณาจัดเป็นสิทธิประโยชน์แก่ประชาชน ตามลำดับความสำคัญภายใต้ทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้ประชาชนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด
และทางด้าน ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเพิ่มเติมในด้านความสำคัญของการรับวัคซีนของคนทุกช่วงวัยว่า สมัยก่อนเมื่อพูดถึงวัคซีนเรามักนึกถึงการให้วัคซีนในเด็ก เพื่อป้องกันโรคในเด็กเป็นหลัก แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถวิจัยพัฒนาวัคซีนมาใช้ป้องกันโรคได้ตลอดช่วงวัยของมนุษย์ วัคซีนครอบครัวหรือ family vaccine ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำหรับการเสวนาครั้งนี้ เน้นความเกี่ยวพันของการรับวัคซีนของสมาชิกในครอบครัวแต่ละวัย ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมในการป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคนั้นๆ ต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านและชุมชนได้ด้วย เช่น เด็กได้รับวัคซีนโรต้า (Rotavirus Vaccine) จะช่วยจะลดอัตราการป่วยท้องเสียของผู้สูงอายุจากไวรัสโรต้าเพราะผู้สูงอายุอาจเป็นโรคนี้ โดยมักติดมาจากเด็กและอาจรุนแรงได้ในขณะที่วัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในผู้สูงอายุ และการที่เด็กได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) ซึ่งเกิดจากไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ค่อยสูงในผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันเมื่อผู้สูงอายุรับวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tdap) จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคไอกรน (Pertussis) ในเด็ก และการรับวัคซีนไข้เลือดออก (Dengue) ในผู้ใหญ่ซึ่งเด็กไม่สามารถฉีดได้จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกในชุมชน (Herd immunity) ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยป้องกันเด็กๆ จากโรคไข้เลือดออกหากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านวัคซีนของประเทศ จะยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพัฒนางานด้านวัคซีนของประเทศต่อไป ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า "ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน ประชาชนเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม" และหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะทำให้ทุกท่านเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และหันมารับวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพราะหนทางที่ดีที่สุดในการควบคุมโรค ไม่ใช่การรักษา หากแต่เป็นการป้องกัน ดังเช่น คำกล่าวที่ว่า "การปัองกันดีกว่าการรักษา หรือ Prevention is better than cure"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit