เรื่อง การปรับหลักเกณฑ์โครงการคลินิกแก้หนี้

23 Apr 2018
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง* สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ โดยการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตและมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้มีโอกาสแก้ไขภาระหนี้ที่มีกับเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งโดยปกติจะทำได้ยากเนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละรายอาจมีหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน ควบคู่กับการให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินที่ดี

ในการนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางแทนเจ้าหนี้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่จัดการได้และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้เริ่มโครงการนำร่องตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นมาและมีความสำเร็จในการช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ระดับหนึ่ง โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ ทำหน้าที่กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้าของโครงการ รวมทั้งพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ในครั้งนี้จะช่วยให้โครงการมีความยืดหยุ่นและขยายขอบเขตการดำเนินการให้ครอบคลุมมากขึ้น

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการ บสส. เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาโครงการได้ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 594 ราย ภาระหนี้รวม 129.65 ล้านบาท และในสิ้นเดือนเมษายนนี้ จะมีลูกหนี้ที่ผ่อนชำระเสร็จสิ้นเป็นรายแรก นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้แล้ว บสส. ได้จัดอบรมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทุกราย ช่วยให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งบรรยายให้แก่พนักงานขององค์กรต่าง ๆ เพื่อเสริมสุขภาพทางการเงินที่ดีให้แก่คนในสังคม ลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย เพื่อช่วยลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า การดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้เป็นโครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศมีความตั้งใจแน่วแน่ในการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในไทย ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาได้เห็นผลสำเร็จในการเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องหนี้ให้ประชาชนได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีลูกหนี้บางส่วนที่ติดขัดเรื่องคุณสมบัติบางประการที่ทำให้เสียโอกาสเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนมากขึ้น จึงได้ปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการให้มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้าง มีความเหมาะสมกับสภาพของลูกหนี้เพิ่มขึ้น อาทิ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ปรับคุณสมบัติจากเดิมที่จะต้องเป็นบุคคลธรรมดามีเงินเดือนประจำ มาเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ รวมถึงปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ให้ยืดหยุ่นขึ้น

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป จะขยายขอบเขตเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนกับธนาคาร ตั้งแต่ 2 แห่ง ขึ้นไป ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 ทั้งกลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี และกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา จากเดิมเมื่อเริ่มต้นโครงการ (นำร่อง) ที่กำหนดเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 และยังไม่ถูกดำเนินคดี คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้นจากการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ ประมาณ 50,000 ราย

นายทีบอร์ พานดิ กรรมการสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้กล่าวย้ำว่า เป็นความรับผิดชอบสำคัญของสถาบันการเงินที่จะต้องก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างเป็นระบบและครบวงจร ควบคู่กับ การให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินการธนาคารยังต้องร่วมมือกันเพื่อช่วยเสริมสร้างการกู้ยืมที่รับผิดชอบมากขึ้น ในขณะที่ลูกหนี้เองก็จะต้องเพิ่มพูนทักษะการบริหารจัดการเงินของตนเอง ไม่ให้กลับเข้าสู่วังวนของหนี้สินอีกในอนาคต

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (SAM) โทรศัพท์ 0-2610-2266 หรือสมัครที่เว็บไซต์ www.debtclinicbysam.com หรือ www.คลินิกแก้หนี้.com

ข้อมูลเพิ่มเติม: สายกำกับสถาบันการเงิน

โทรศัพท์: 0 2283 5904

E-mail: [email protected]

*หมายเหตุ : ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ รวม 16 แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย

ธ.เกียรตินาคิน ธ.ซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย ธ.ทหารไทย ธ.ทิสโก้ ธ.ไทยเครดิต เพื่อรายย่อย

ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.ธนชาต ธ.ยูโอบี ธ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ธ.แห่งประเทศจีน (ไทย) และ ธ.ไอซีบีซี (ไทย)