สจล. ชู “ลาดกระบังโมเดล” ลุยนำร่องจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ ตามรอยพระราชดำริ ร.10 สู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ พร้อมมุ่งขยายโมเดลสู่มหา’ลัยทั่วไทย

23 Apr 2018
- สจล. รุก ประดิษฐ์ถังดักไขมันดีไอวาย ลดต้นทุนนวัตกรรมจากหลักพันสู่หลักสิบ ย้ำมหาวิทยาลัยยุคใหม่ ต้องประยุกต์ความรู้-วิทยาการ แก้ไขปัญหาชุมชนใกล้ตัว
สจล. ชู “ลาดกระบังโมเดล” ลุยนำร่องจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ ตามรอยพระราชดำริ ร.10 สู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ พร้อมมุ่งขยายโมเดลสู่มหา’ลัยทั่วไทย

กรุงเทพฯ 23 เมษายน 2561 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิด "ลาดกระบังโมเดล" โมเดลนำร่องเดินหน้าพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ หรือชุมชนหลวงพรตท่านเลี่ยม ลาดกระบัง ผ่านการประยุกต์ใช้จุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สจล. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการพักอาศัย 2) คนในชุมชนมีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง 3) เข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม 4) สามารถประกอบอาชีพ ได้ด้วยอัตลักษณ์ของชุมชน และ 5) มีสภาพสังคมที่ดี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกชุมชนที่เหมาะสม ผ่านการจัดตั้งจุดบริการและลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านต่างๆ ตลอดจนนำความรู้ นวัตกรรม และความเชี่ยวชาญของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน เข้าไปประยุกต์ อาทิ ขุดลอกลำรางสาธารณะ เปิดทางน้ำไหล พร้อมจัดทำนวัตกรรมถังดักไขมันดีไอวาย ดักไขมันต้นทางน้ำเสียที่ถูกใช้จากครัวเรือน เพื่อจัดการไขมัน ฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำเลียบชุมชน เก็บผักตบชวา วัชพืชน้ำ และนำไปทำเป็นปุ๋ยชุมชน ส่งเสริมการทำขนมสายบัวแดง ขนมที่อยู่คู่ชุมชนอายุกว่า100 ปี สู่การเป็นสินค้าหลัก อัตลักษณ์ประจำชุมชน ครัวจิตอาสา และการจัดทำไอทีชุมขน เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สจล. มุ่งหวังให้โครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชนในครั้งนี้ จะสามารถเป็นโมเดลต้นแบบในการขยายโครงการดังกล่าว ไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ ในการพัฒนาชุมชนโดยรอบสถาบันการศึกษา ให้เกิดเป็นชุมชนที่น่าอาศัย และมีสภาพแวดล้อมโดยรอบสถาบันที่ดี ได้ในอนาคต

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า สจล. ออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาด้วยการใช้ "ลาดกระบังโมเดล" ซึ่งนำเอาศักยภาพและจุดแข็งของสถาบันฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผสานทั้งองค์ความรู้และการใช้นวัตกรรมเข้ามาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัย และพัฒนาชุมชนอย่างมั่นคง ต่อเนื่อง และมีความสุข ตลอดจนสร้างสำนึกที่ดีในการมีจิตสาธารณะของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน ในการมีส่วนร่วมพัฒนาวิถีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบสถาบัน โดยใช้ "KING MODEL" ตามพระราชดำริของเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งชุมชนที่น่าอยู่ ควรประกอบไปด้วย 1) สภาพแวดล้อมภายในชุมชนเอื้อต่อการพักอาศัย 2) คนในชุมชนมีสุขอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจในการรักษาสุขอนามัย 3) คนในชุมชนมีสิทธิ์การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม 4) สามารถประกอบอาชีพ ได้ด้วยผลิตภัณฑ์อันเป็นอัตลักษณ์ประจำชุมชน และ 5) ชุมชนมีสภาพสังคมภายในที่ดี สมัครสมานสามัคคี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายในชุมชนที่เหมาะสม

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า ล่าสุดจากโมเดลดังกล่าว สจล. ได้นำร่องโครงการ "ชุมชนจิตอาสาร่วมใจ พระจอมเกล้าลาดกระบัง 2" กิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ บริเวณโรงเรียนศึกษาพัฒนา ชุมชนหลวงพรตท่านเลี่ยม ลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยทำการจัดตั้งจุดบริการและลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ในด้านต่างๆ ตามความรู้และความเชี่ยวชาญของเหล่าคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน อาทิ

  • การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกชุมชน ทาสีสะพานปูน ทำประชาพิจารณ์ชุมชนเพื่อคัดเลือกแบบสะพานไม้ใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • ขุดลอกลำรางสาธารณะ เปิดทางน้ำไหล พร้อมจัดทำนวัตกรรมถังดักไขมันดีไอวาย ดักไขมันต้นทางน้ำเสียที่ถูกใช้จากครัวเรือน เพื่อจัดการไขมัน ฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำเลียบชุมชน โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
  • เก็บผักตบชวา วัชพืชน้ำ และนำไปทำเป็นปุ๋ยชุมชน โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร
  • ส่งเสริมการทำขนมสายบัวแดง ขนมที่อยู่คู่ชุมชนอายุกว่า100 ปี สู่การเป็นสินค้าหลัก อัตลักษณ์ประจำชุมชน โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร
  • ครัวจิตอาสา โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร
  • การจัดทำไอทีชุมชน เพื่อการเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตรและสำนักบริการคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ การเปิดโครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชน ด้วยการใช้ "ลาดกระบังโมเดล" ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ เคเอ็มไอทีแอลเน็กซ์ (KMITL NEXT) ในหัวข้อ เน็กซ์แอคชัน (NEXT Action) โดยมุ่งหวังให้เป็นโมเดลต้นแบบในการขยายโครงการ ไปสู่สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่มีกว่า 300 สถาบัน ทั่วประเทศ ให้สามารถผลักดันกระบวนการหล่อหลอมจิตสาธารณะ ในการเป็นบุคคลและบัณฑิตที่สมบูรณ์แบบพร้อมรับใช้สังคมในอนาคต รวมทั้งสะท้อนภาพการเป็นแหล่งทรัพยากรทรงคุณค่าของชุมชน ทั้งด้านวิชาการ และการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากโครงการจิตอาสาพัฒนาชุมชนข้างต้นแล้ว สจล. ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและจัดสรรพื้นที่ต่างๆ ในสถาบัน เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชุมชนโดยรอบเข้ามาศึกษาเรียนรู้และใช้ประโยชน์ อันสอดคล้องกับนโยบายการเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ของชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ชาวชุมชนและประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป

ด้านคุณอำภา บุณยเกตุ ประธานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้ กล่าวว่า ตนอาศัยอยู่ที่ชุมชนนี้มายาวนานกว่า 55 ปี ซึ่งแต่ก่อนชุมชนเปรียบเสมือนศูนย์การค้าหลักชานเมืองที่เคยรุ่งเรือง แต่ในปัจจุบัน เนื่องด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ทำให้สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ ตลอดจนความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของชุมชนเสื่อมถอยลง ซึ่งทางชุมชนเองใช้ความพยายามอยู่นับ 10 ปี ในการฟื้นฟูสภาพชุมชน โดยการเข้ามาของ สจล. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นสภาพชุมชน ที่สามารถเติมเต็มต้นทุนการพัฒนาอย่างแนวคิด แนวทาง และความชำนาญทางวิชาการและเทคโนโลยี ที่ทางชุมชนเองยังคงขาดอยู่ เพื่อช่วยกันพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้น และนับว่าเป็นความร่วมมือที่จริงใจ และจริงจังระหว่างสถาบันการศึกษาและตัวชุมชน เนื่องจาก มีการพูดคุย รับฟังความคิดเห็นระหว่างคนในชุมชนและทางสถาบัน ทำให้แนวทางการดำเนินงาน ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้ โดยยังคงเอกลักษณ์และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน เป็นการพัฒนาในจุดที่ทุกคนในชุมชนต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งตนคาดว่า ในอนาคต ชุมชนหัวตะเข้เองจะมีพัฒนาการทั้งด้านของสภาพทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิต ตลอดจนพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง บุคคลภายนอกเองมองเห็นความงดงามของชุมชน ให้ความสนใจและมาเที่ยวมากยิ่งขึ้น และคนที่อาศัยในชุมชนเองจะมองเห็นคุณค่าของชุมชน และช่วยกันรักษา สืบต่อเอกลักษณ์ประจำชุมชนต่อไป

แตงไทย - พสธร ธีระกานตภิรัตน์ นักศึกษาปี 2 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หนึ่งในผู้ร่วมโครงการ "ชุมชนจิตอาสาร่วมใจ พระจอมเกล้าลาดกระบัง 2" ในครั้งนี้ กล่าวว่า กิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ ทำให้ตนได้เรียนรู้และมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นของชุมชนที่อยู่รอบข้างสถาบันอย่างแท้จริง และนับเป็นโอกาสดี ที่ทำให้นักศึกษาได้นำเอาความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนมาใช้พัฒนาชุมชน ช่วยฝึกฝนการทำงานจริงอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างเช่นตนที่ได้ประยุกต์ความรู้จากในห้องเรียน มาช่วยชุมชนด้วยการตรวจสภาพวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย ที่แม้ว่าการให้บริการในวันนี้อาจจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการขยายโครงการแบบนี้ไปในวงกว้าง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศได้ในอนาคต ดังคำกล่าวที่ว่า หากรอบบ้านของเราน่าอยู่ ในบ้านเราก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้นด้วย

เช่นเดียวกับ กุ๊กไก่ – กชกร ชื่นตา นักศึกษาปี 2 วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การได้ออกมาทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน ไม่เพียงช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมเพียงเท่านั้น แต่เป็นการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้และการทำงานนอกห้องเรียน ซึ่งตนได้เรียนรู้หลายสิ่ง ที่ไม่สามารถหาเรียนได้แค่ภายในห้องเรียน อาทิ ได้เรียนรู้การประยุกต์สิ่งของเหลือใช้รอบตัว ให้กลายเป็นถังดักไขมัน หรือ การทำขนมสายบัวแดง ขนมประจำชุมชนที่หากไม่ได้มา ก็จะไม่รู้จัก เป็นต้น นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าว นับว่าเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาได้ทำเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถช่วยยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนน่าอยู่ โดยยังคงความเป็นเอกลักษณ์ เพิ่มความน่าสนใจและสามารถโปรโมทการท่องเที่ยวตลาดเก่าริมน้ำชุมชนหัวตะเข้ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ซึ่งน่าจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

สำหรับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlpr หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111

สจล. ชู “ลาดกระบังโมเดล” ลุยนำร่องจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ ตามรอยพระราชดำริ ร.10 สู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ พร้อมมุ่งขยายโมเดลสู่มหา’ลัยทั่วไทย สจล. ชู “ลาดกระบังโมเดล” ลุยนำร่องจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ ตามรอยพระราชดำริ ร.10 สู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ พร้อมมุ่งขยายโมเดลสู่มหา’ลัยทั่วไทย สจล. ชู “ลาดกระบังโมเดล” ลุยนำร่องจิตอาสาพัฒนาชุมชนหัวตะเข้ ตามรอยพระราชดำริ ร.10 สู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ พร้อมมุ่งขยายโมเดลสู่มหา’ลัยทั่วไทย