จากข้อมูลของชุมชนบ้านบางเอียงพบว่า สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม มีชาวไทยพุทธส่วนน้อย แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและประมง มีกลุ่มอาชีพเสริมต่างๆประมาณ 10 กลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตร ปลูกพริก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ จักสาน กลุ่มงานไม้และโลหะ ทำเฟอร์นิเจอร์
แกนนำชุมชนคนสำคัญอย่าง สุคนธ์ รัญจวนจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 กล่าวว่า ถึงแม้ชุมชนบ้านบางจะมีทุนธรรมชาติที่ดี มีกลุ่มอาชีพหลายกลุ่มแต่กลับพบว่าต่างคนก็ต่างๆ ทำ ไม่มีการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง จึงได้เชิญสมาชิกกลุ่มต่างๆ มาพูดคุยปัญหาในหมู่บ้าน แล้วก็พบว่าแต่ละครอบครัวมีหนี้สินมาก ทั้งๆ ที่พื้นที่มีความพร้อม สามารถทำประมงและเกษตรได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และพบว่าบางครอบครัวไม่ได้ชำระหนี้ตามที่กำหนด เพราะไม่มีงานทำ แม้ว่าจะทำสวนยางแต่มีรายได้เฉพาะ 3 เดือนเท่านั้นเนื่องจากมีฝนตกตลอด และไม่มีอาชีพอื่นเสริม
"ที่สำคัญเรายังพบว่าที่มาของอาหารแต่ละครอบครัว ส่วนใหญ่ซื้อหามาทั้งสิ้น ไม่ได้ผลิตเอง สภาผู้นำชุมชนจึงเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ที่มีหนี้สินทำอาชีพเสริม เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกพริก พบว่าอาชีพเสริมช่วยได้ 50% อย่างน้อยก็ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวลงไป ขณะเดียวกันก็วางแผนให้ทุกครัวเรือนจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อให้เห็นตัวเลขแก้ปัญหาหนี้สินให้ตรงจุด" ผู้ใหญ่สุคนธ์ ระบุซึ่งภายหลังการพูดคุยประชุมร่วมกัน สมาชิกในชุมชนแห่งนี้จึงเริ่มมองเห็นทิศทางในการต่อยอดความสำเร็จจากกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ให้ไปสู่ความสำเร็จที่ขยายวงกว้างมากขึ้น โดยพร้อมใจกับแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการเคลื่อน "โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านบางเอียง"ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
"ก็ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านและเกิดการรวมตัวได้ สภาผู้นำชุมชนมีส่วนสำคัญ ต้องคอยกระตุ้นชาวบ้านโดยเฉพาะการทำบัญชีครัวเรือน การทำอาชีพเสริม วันนี้คนบางเอียงรู้จักสภาผู้นำแล้ว มีตัวแทนแต่ละกลุ่มเป็นสมาชิกเข้ามาร่วมกัน เรามีภาคีเครือข่ายที่เหนียวแน่น ทั้ง อสม. สภาผู้นำ อบต. แกนนำชุมชน กรรการหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์จริยธรรมบ้านบางเอียง ศูนย์เด็กเล็ก ถ้ามีกิจกรรมก็จะพาเด็กมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันด้วย" สุคนธ์ รัญจวนจิตร กล่าวอย่างมีความหวัง
ทางด้าน มานพ นาวารี ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีก หนึ่งในสมาชิกสภาผู้นำชุมชนเสริมว่า บัญชีครัวเรือนมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับสุขภาวะโดยตรง ถ้าทำบัญชีครัวเรือนจะทำให้รู้รายรับรายจ่าย หากไม่ได้ทำเมื่อเห็นตัวเลขหนี้ รายได้ไม่พอต่อการใช้หนี้ก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิต สร้างความวิตกกังวลกระทบต่อเนื่องไปยังร่างกาย การทำบัญชีครัวเรือนจึงช่วยให้ชาวบ้านมองเห็นจุดที่เป็นปัญหา และแก้ปัญหาได้ตรงจุด พอหนี้สินลดลง สุขภาวะก็จะดีขึ้นด้วยตัวเอง พร้อมย้ำความสำคัญของการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายว่า ถ้าการบันทึกไว้จะทำให้เห็นรายรับรายจ่ายอย่างละเอียด ทราบการใช้จ่ายสิ่งไหนไม่สำคัญสามารถตัดออก หากรายรับไม่พอจะหาอย่างไรมาเพิ่ม หากมีการทำบัญชีครัวเรือนจะทำให้การดำเนินชีวิตมีความชัดเจน
"ตอนนี้กำลังทำแบบให้ชาวบ้านบันทึก อยู่ระหว่างการทดลอง ตอนแรกเราจะให้ทุกครอบครัวมาเรียนรู้ก่อน เราคุยกันหลายกลุ่ม จากการสำรวจหนี้สินครัวเรือน พบว่ามีหนี้สินอยู่ถึงร้อยละ 80 จากอาชีพทำสวนและประมง จึงได้ส่งเสริมการสร้างกลุ่มในการทำอาชีพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ใช้กลไกสภาผู้นำชุมชน เป็นเวทีแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ตอนนี้ชาวบ้านให้การตอบรับดี ทางเราจะเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนก่อน" ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ปีก กล่าว
สำหรับ สุบา ระเหม เกษตรกรเจ้าของสวนยาง กล่าวว่าเป็นสมาชิกสภาผู้นำชุมชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำอาชีพมาบ้าง เห็นว่าการทำบัญชีครัวเรือนน่าจะช่วยให้รับรู้รายรับรายจ่ายและวางแผนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินได้ ในเรื่องรายได้นอกจากทำสวนยางแล้วก็ยังปลูกผักเหรียงไว้ในพื้นที่ว่างระหว่างต้นยางพารา เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ โดยได้ต้นพันธุ์มาจากการเข้ากลุ่มเกษตรเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้มีรายได้จากการเก็บผักเหรียงขาย ลดรายจ่ายในครอบครัวไปด้วย
"มีรายได้สัปดาห์ละ 300-400 บาท ขายกำละ 10 บาท มีคนมารับถึงที่ ไม่ต้องไปส่งที่ไหน เขารู้ว่ามีก็มารับถึงบ้าน เก็บขายสัปดาห์ละครั้ง แต่ก่อนไม่เคยรู้ว่าสามารถปลูกได้ การดูแลก็ง่ายใส่ปุ๋ยคอก ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หน้าแล้งก็ให้น้ำเสียหน่อยก็จะมียอดแตกให้เก็บ เป็นค่ากับข้าวในบ้าน" เกษตรกรเจ้าของสวนยางพารากล่าว
ขณะที่ ตรีพร ผ่องแผ้ว เกษตรกรเจ้าของสวนยางพารา ที่เจียดเนื้อที่บริเวณบ้านพักขุดบ่อเลี้ยงปลา และทำกระชังวางในบ่อ เลี้ยงปลาอย่างหลากหลาย ทั้งปลาดุก ปลาสวาย ปลานิล บางชนิดเลี้ยงในกระชัง บางชนิดที่อยู่ร่วมกันได้ก็อยู่นอกกระชัง อีกทั้งยังปลูกพืชผักในสวนไว้กินเอง หากเหลือก็จะนำไปขาย เป็นรายได้นอกเหนือจากทำสวนยาง สวนปาล์ม และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
"ก็ทำหลายๆอย่าง ถ้าทำอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ ต้องทำเสริมกัน ทำให้เราไม่ต้องไปซื้อเขาหรือซื้อน้อยลง เหลือก็เอาไปขาย เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นกลับมา" ตรีพร ให้ความเห็น
โครงการชุมชนน่าอยู่บ้านบางเอียง แม้จะเพิ่งเริ่มดำเนินการไม่นานนัก แต่ก็ก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเพราะต่อยอดจากทุนในด้านต่างๆ ที่ชุมชนไดมีอยู่ ประกอบกับสมาชิกชุมชนมีมีความรู้ มีความเข้าใจ และเห็นพ้องร่วมกันในการพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพพื้นฐานอยู่แล้วให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือลดปัญหาภาวะหนี้สินลงพร้อมๆ กับการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้อย่างยั่งยืน.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit