นายฉัฐรินทร์ ธรรมชัยโรจน์ นักชิมกาแฟชั้นแนวหน้าของเมืองไทย เจ้าของรางวัลระดับสากล 2nd Placed Cup Tasters Championship (Victoria Southern Regional) ประจำปี 2016 จากประเทศออสเตรเลีย ในฐานะ Coffee Specialist Consultant กาแฟดอยตุง กล่าวว่า กาแฟสุดพิเศษนี้ เป็นผลผลิตที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ทำการวิจัยและพัฒนาเอง โดยใช้เวลานานกว่า 3 ปี ทดลองปลูกกาแฟอราบิก้าแท้สายพันธุ์ใหม่ที่ทางโครงการฯ ไม่เคยปลูกมาก่อน และผ่านกระบวนการแปรรูปที่ทดสอบแล้วว่าเหมะสมที่สุด ในการดึงรสชาติและความโดดเด่นของแต่ละสายพันธุ์ออกมา
"จากความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาสถานที่ปลูกบนความสูงจากระดับน้ำทะเลในระดับที่ต่างกัน แปลงเพาะพันธุ์ไม่ปะปนสายพันธุ์อื่น ดูแลเก็บเกี่ยวเฉพาะผลที่สุกด้วยมือทีละเมล็ด ผ่านกระบวนการแปรรูปที่เอาใจใส่และเหมาะสม ทั้งปอก ล้าง หมัก ตากแดด สีเปลือก คัดขนาด คัดน้ำหนัก คั่ว คัดสี ตลอดจนถึงการบรรจุ ทำให้ขณะนี้ ดอยตุงมีกาแฟเกรด Specialty 4 สายพันธุ์ ผลิตได้จำนวนจำกัดเพียง 70 กิโลกรัม พร้อมให้คอกาแฟได้ลองรสชาติแปลกใหม่ที่ดอยตุงยังไม่เคยผลิตมาก่อน ที่สำคัญการพัฒนากาแฟเกรด Specialty นี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและยกระดับคุณภาพกาแฟไทยให้เทียบเท่าสากลแล้ว หากผลการทดลองปริมาณผลผลิตต่อไร่ได้ผลดี ทางโครงการฯ จะขยายผลให้ชาวบ้านนำไปปลูกเพื่อสร้างรายได้ต่อไป" Coffee Specialist Consultant กาแฟดอยตุง ระบุขณะที่ นายวัลลภ ปัสนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวว่า สิ่งที่กาแฟดอยตุงกำลังพัฒนาอยู่ ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดกระแสนักดื่มกาแฟรุ่นใหม่ในประเทศไทยที่เรียกว่า Third Wave ซึ่งมีอยู่ราว 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มที่ดื่มกาแฟเพื่อความสุนทรีย์ ต้องการรับรู้เรื่องราวต้นทางของกาแฟที่ดื่ม รู้จักคาแรกเตอร์ของกาแฟแต่ละสายพันธุ์ ไม่ใช่การดื่มเพื่อฟังก์ชั่นให้ร่างกายตื่นตัวอย่างเดิม นับว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้กลุ่มคนรักกาแฟมีทางเลือกมากขึ้น ด้วยรสชาติที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์และกระบวนการแปรรูป จากเดิมที่ดื่มแล้วได้แต่รสขม
"อยากให้กาแฟ Specialty ของไทยไปไกลถึงระดับโลก" นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าว
ด้าน นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร เซเลบริตี้สายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เผยความรู้สึกที่มีต่อกาแฟเกรด Specialty ว่า ไม่ได้เป็นคนที่ดื่มด่ำกับกาแฟเกรด Specialty บ่อย แต่เมื่อได้ลองแล้วก็พบว่ามีความพิถีพิถันในกระบวนการผลิต ยังได้รับรู้เรื่องราวจากต้นทาง ต่างจากเดิมที่ผ่านมาดื่มกาแฟแต่ไม่เคยรู้อะไรเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย
"หลังจากมีโอกาสได้ไปสัมผัสไร่กาแฟ ได้เห็นวิธีการปลูกที่ทำให้เกิดความยั่งยืนร่วมไปกับธรรมชาติ ได้เห็นว่ากาแฟสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวเขาตลอดทั้งปี ลูกหลานไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นออกมาหางานทำนอกพื้นที่ คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น กาแฟจึงไม่ใช่แค่น้ำที่ไหลออกจากเครื่องทำกาแฟแล้วดื่มซึ่งเป็นปลายทาง แต่ยังมีต้นน้ำที่เต็มไปด้วยคุณค่าชวนให้เรียนรู้" นายพิพัฒน์ กล่าว
ผู้ที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรม "Experience the Story of DoiTung Coffee" กับคาเฟ่ดอยตุงได้จนถึง วันที่ 11 มีนาคม 2560 ที่ บูธ L30 และ L31 ณ ห้องแพลนารี ฮอลล์ 1-3 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit