ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของไทยขณะนี้ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากผลการตรวจหัวสุนัขที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ายังคงมีรายงานอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 - กุมภาพันธ์ 2561 พบสุนัขแมวมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 251 ตัว สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ประกาศให้ 13 จังหวัดเป็นเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า เป็นพื้นที่สีแดง ได้แก่ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีษะเกษ สำหรับการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า มาจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน โดยคิดว่าเมื่อถูกลูกสุนัข ลูกแมวกัดข่วนก็มักจะคิดว่าไม่เสี่ยง และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน
จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังไม่ให้ตนเองหรือคนในครอบครัว ตลอดจนสัตว์ที่เลี้ยงไว้ถูกสุนัขหรือแมวกัด ควรนำสัตว์เลี้ยงอายุ 2 - 4 เดือนขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และฉีดกระตุ้นอีกครั้งตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเองให้อยู่ในบริเวณที่มีรั้วปิดรอบ ไม่ปล่อยให้ออกไปคลุกคลีกับสุนัขจรจัดนอกบ้าน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ขณะนี้ไม่มียารักษา ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตทุกราย การป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน อย่าชะล่าใจ ให้รีบล้างแผลโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดล้างบริเวณแผลหลายๆครั้งอย่างเบามือ 15 นาที ซับให้แห้ง ใส่ยาเบต้าดีน ไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายใน 2 วันต้องฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดทุกครั้ง และต้องกักสุนัขหรือแมวที่กัดไว้ดูอาการ 10 วัน หากสัตว์ที่กัดตายต้องรีบแจ้งให้ปศุสัตว์ในพื้นที่ทราบทันที
โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่นๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง เป็นต้น อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลียต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็งอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2 – 7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลาได้ดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนองพระปณิธานของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตามโครงการ"สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งตั้งเป้ากำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยในปี 2562 อย่างไรก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จ หากท่านพบเห็นหรือสงสัยว่ามีสุนัขหรือแมวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอทันที หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สมารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422