รายงานผลสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของแกรนท์ ธอนตัน (Grant Thornton International Business Report: IBR) เผยสัดส่วนผู้บริหารหญิงประจำปี 2561 ในประเทศไทยขยับสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 42 รั้งอันดับที่ 3 ของโลก เพิ่ม จากปีก่อนซึ่งมีสัดส่วนที่ร้อยละ 31 เป็นรองประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงสูงเป็นที่ 1 ของโลก อยู่ที่ร้อยละ 47 รองลงมาคือประเทศอินโดนีเซียในอันดับที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 43 ซึ่งในปีนี้ 3 อันดับแรกของโลกต่างเป็นประเทศในทวีปเอเชียทั้งหมด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงต่ำที่สุดในโลก ซึ่งมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ผลสำรวจยังได้ระบุถึงอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนผู้หญิงในฐานะผู้บริหารระดับสูงมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม สูงถึงร้อยละ 33 ในขณะที่ธุรกิจด้านก่อสร้างมีตัวสัดส่วนดังกล่าวน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 19
นางจุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการผู้จัดการสายงานที่ปรึกษาด้านการเงิน แกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้บทบาทของผู้หญิงได้เปลี่ยนไปจากเดิม ทั่วโลกต่างให้การส่งเสริมและยอมรับในศักยภาพของผู้หญิงมากขึ้น หลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียและทวีปอื่นๆ อย่าง ไต้หวัน พม่า เนปาล โครเอเชีย มอริเชียส ไปจนถึงลิทัวเนีย ได้มีการเลือกผู้นำหญิงขึ้นดำรงตำแหน่งต่างๆ ในการบริหารประเทศ รวมถึงบทบาทของผู้หญิงในประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนภาคอุตสาหกรรมที่มีแต่ผู้ชายเป็นแรงงานหลัก นับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่จากสถิติตัวเลขของ Global Finance ปีล่าสุดชี้ว่าปัจจุบันภาคบริการซึ่งมีแรงงานผู้หญิงเป็นกำลังหลักได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตัวเลขจีดีพีของประเทศแทนที่ภาคอุตสาหกรรม และยังพบว่าทุกแรงงาน 100 คน ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีแรงงานสตรีสูงถึง 83 คน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่ให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้น
สำหรับในประเทศไทย ผลการสำรวจระบุว่าระหว่างปี 2560 – 2561 ตัวเลขผู้บริหารหญิงเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 11 (ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 31) ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสัดส่วนผู้บริหารในองค์กรที่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะสามารถสร้างผลกำไรได้ดีกว่าองค์กรที่เลือกเพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลกระบุว่า ที่ผ่านมาโลกพยายามลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายกับเพศหญิงที่มีถึงร้อยละ 59 ในภาคเศรษฐกิจ และร้อยละ 29 ในภาคการเมือง เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปผู้หญิงได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาอยู่ในบทบาทที่สำคัญทางสังคมมากขึ้น มีความเท่าเทียมกับผู้ชาย ทั้งการเป็นผู้นำประเทศ ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เราจะเห็นว่าในบางประเทศจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นหากไม่มีการปิดกั้นโอกาสในด้านการทำงาน ปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลนก็อาจจะลดลง
"ปัจจุบันวัฒนธรรมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีการให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้นทั้งในเรื่องการศึกษา หรือ การทำงาน ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่จบการศึกษาในระดับสูงไม่ต่างจากผู้ชาย เพราะสังคมไม่มีการปิดกั้นหรือแบ่งแยก โลกจึงให้บทบาทกับผู้หญิงมากขึ้นซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากผู้หญิงได้รับสิทธิและการส่งเสริมที่เท่าเทียมกับผู้ชายแล้วบวกกับความคิดและความสามารถที่ผู้หญิงมีอยู่ ก็น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้แต่ละประเทศสามารถเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้นกว่าเดิม" นางจุฬาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับแกรนท์ ธอนตัน
แกรนท์ ธอนตัน คือหนึ่งในผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาธุรกิจ การเงิน และภาษี ชั้นนำระดับโลก เราช่วยปลดล็อกศักยภาพในการเติบโตให้องค์กร โดยการให้คำแนะนำอย่างเข้าใจและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ทีมงานตลอดจนผู้บริหารของเราต่างใช้ข้อมูลเชิงลึก ประสบการณ์ และความคิดเห็นในการทำความเข้าใจกับปัญหาที่ซับซ้อนของลูกค้าตั้งแต่บริษัทเอกชน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ได้คำแนะนำและวิธีการที่เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 50,000 คนในกว่า 135 ประเทศทั่วโลกของเราต่างพยายามมุ่งเน้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และสังคมที่เราอยู่อาศัย และด้วยหลากหลายปัจจัยทำให้แกรนท์ ธอนตัน กลายเป็นที่ปรึกษาที่มีเอกลักษณ์ต่างจากที่ปรึกษารายอื่นๆ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.grantthornton.co.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit