เพื่อเป็นการผ่อนภาระประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการต่างๆ ในเรื่องต้นทุนรายจ่ายที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจปรับตัวสูงขึ้น และด้วยฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีอยู่ในระดับสูงถึงประมาณ 40,000 ล้านบาท ที่ประชุม กพช. เห็นชอบการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเสนอ จากปัจจุบันที่เก็บ 0.25 บาท/ลิตร คงเหลือ 0.10 บาท/ลิตร ลดชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว กองทุนฯ ก็ยังมีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะสามารถดำเนินกิจกรรมตามปกติได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับเงินส่วนที่ลด 0.15 บาท/ลิตร จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ 5,350 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถ้าเก็บแบบนี้ กิจกรรมกองทุนฯ จะมีเงินรายรับสำหรับใช้ตามแผนการดำเนินงานของกองทุนฯ ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท โดยการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ น้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และปรับอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ที่ประชุม กพช. เห็นชอบการออกกฎกระทรวงฯ เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูง เรียกว่า เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) ด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานกับอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ 1) สำนักงาน 2) โรงแรม 3) โรงพยาบาล 4) ศูนย์การค้า 5) โรงมหรสพ 6) สถานบริการ 7) อาคารชุมนุมคน 8) อาคารชุด และ9) สถานศึกษา ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุในกฎกระทรวงฯ ได้แก่ ระบบกรอบอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยให้มีการบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อนและทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภท ภายใน 3 ปี โดยมีกรอบการดำเนินงาน ดังนี้
ปีที่ 1 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
ปีที่ 2 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
ปีที่ 3 บังคับใช้กับอาคาร ขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป
ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานด้านพลังงานของอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง จะทำให้การใช้พลังงานภายในอาคารมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าร้อยละ 10 โดยมีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวมประมาณ 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 47,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ร่างกระกฎกระทรวง BEC นี้ จะต้องนำเสนอ ครม. พิจารณาตามลำดับต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit