รายงานกรีนพีซระบุด้วยว่า การผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุที่ซ่อนเร้นของวิกฤตสุขภาพของคนทั่วโลก การบริโภคเนื้อแดงในปริมาณมากมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน และ เบาหวาน ขณะที่คนนับล้านอาจมีอายุยืนขึ้นจากการเข้าถึงแหล่งอาหารที่มีพืชผักเป็นหลัก การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมล้วนเกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศว่า "เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข" และเป็นแหล่งของเชื้อโรคที่มากับอาหาร
บันนี แมคดิอาร์มิด ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล กล่าวว่า
"ระบบอาหารของเรามีปัญหา รัฐบาลต่าง ๆ ยังคงสนับสนุนการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม อันเป็นการกระตุ้นให้บริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่สุขภาพของเรา สุขภาพของลูกหลานเราและโลกของเราอยู่ในความเสี่ยง รัฐบาลควรสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศมากขึ้น เพื่อการผลิตอาหารที่มีประโยชน์และช่วยให้ผู้คนเข้าถึงอาหารที่มีพืชผักเป็นหลักได้ง่ายขึ้น
ขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกที่หลากหลายในรูปแบบใหม่ ๆ กำลังขยายตัวขึ้น เพื่อการบริโภคและการผลิตอาหารที่ดีและสอดคล้องกับตัวของเราและสิ่งแวดล้อมของเรา พวกเราสามารถทำให้ระบบอาหารของเราลดการพึ่งพิงการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม และช่วยกันสร้างโลกที่ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อไป"
กรีนพีซเริ่มงานรณรงค์ระดับโลกเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการกินและการผลิตเนื้อเชิงอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากผลกระทบของการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่มีต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเรียกร้องให้มีการลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมลงร้อยละ 50 และมีการเพิ่มการผลิตและบริโภคอาหารที่มีพืชผักเป็นหลักภายในปี 2593
พีท สมิธ อดีตผู้เขียนหลักของรายงานการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวว่า "ความจำเป็นในการลดความต้องการในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเป็นความเห็นตามกระแสหลักในทางวิทยาศาสตร์ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้นที่จะทำให้เรามีระบบอาหารที่เหมาะสมกับอนาคต เป็นประโยชน์กับมนุษย์และกับโลกทั้งมวล การผลิตอาหารในรูปแบบที่เราบริโภคในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ แม้ว่าเราจะพยายามทำอย่างยั่งยืนมากขึ้นก็ตาม เราทุกคนต้องปกป้องโลกเพื่อคนลูกหลานของเราในอนาคต"
รายงานของกรีนพีซได้ตีแผ่ผลกระทบอื่น ๆ ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วจากการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงหลายสิบปีมานี้ นับตั้งปี 2513สัตว์ป่าสูญพันธุ์ไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่ประชากรปศุสัตว์กลับเพิ่มขึ้นสามเท่าตัว การผลิตปศุสัตว์ในปัจจุบันใช้พื้นที่ทั้งหมดในโลกถึงร้อยละ 26
กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศล้มเลิกนโยบายสนับสนุนการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม แต่ให้ช่วยเกษตรกรให้หันไปทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศและทำปศุสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม กรีนพีซยังเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศสนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์และมีพืชผักเป็นหลัก และเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมลง เพื่อโลกที่มีสุขภาวะมากขึ้น
" สิ่งที่เราเลือกกิน ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกชน หรือเป็นประชากรโลก คือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่จะใช้ต่อกรกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำลายสิ่งแวดล้อม" บันนี แมคดิอาร์มิด กล่าวเพิ่มเติม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit