นายสุทธิ
สุโกศล อธิบดี
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมีการแข่งขัน
ทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น อาทิ การแข่งขันด้านการผลิตสินค้า ความรวดเร็วในการขนส่ง ซึ่งขณะนี้ช่องทางการขนส่งสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากผู้ประกอบการมีระบบช่องทางการจัดจำหน่ายที่ดี ช่วยเพิ่มโอกาสในการจำหน่วยสินค้ามากขึ้น ทั้งนี้การขนส่ง เคลื่อนย้ายสินค้า เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะพบการใช้งาน
รถหัวลากในระบบการขนส่ง
โลจิสติกส์ การบรรทุกสิ่งของเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทขนส่งพาณิชย์ขนาดใหญ่ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกสินค้าทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางท่าเรือ หรือท่าอากาศยานต่างๆ ซึ่งผู้ใช้ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการดำเนินงานเป็นสำคัญ พร้อมทั้งต้องการต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำ ซึ่งรถหัวลาก สามารถทำงานได้หลากหลาย โดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น หัวลาก 1 คัน สามารถฉุดหางรถกึ่งพ่วงคอต่ำ (โลเบท) สำหรับใช้เคลื่อนย้ายรถขุดเจาะ (แบ็คโฮล) แล้วยังสามารถต่อหางดั้มพ์วิ่งงานได้อีก บรรจุสินค้าได้รวดเร็วเหมือนรถเดี่ยว แต่มีราคาถูกกว่ารถพ่วง นอกจากนี้ ทักษะและความชำนาญในการขับรถดังกล่าวด้วยความปลอดภัยก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่พนักงานขับรถควรมีความรู้ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำชับการเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานภาคอุตสาหกรรม และการบริการสู่ไทยแลนด์ 4.0 ระบบขนส่งโลจิสติกส์ ของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2561 กพร. มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมและบริการ สู่ไทยแลนด์ 4.0 ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ จำนวน 11,590 คน ดำเนินการแล้วกว่า 5,800 คน โดยมีหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ(เชียงแสน)จังหวัดเชียงราย มีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 400 คน ปัจจุบันประกาศรับสมัครผู้สนใจเข้าฝึกอบรม หลักสูตร เทคนิคการขับรถลาก จูง มีกำหนดการฝึกระหว่างวันที่ 12 มี.ค. – 4 เม.ย. 61 (180 ชั่วโมง) ผู้เข้าอบรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี สามารถขับรถบรรทุกได้ และมีใบขับขี่ประเภท บ2 หรือ ท2 สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ โทร. 053 777 471
การพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคการขนส่ง ที่กพร.ดำเนินการมีอีกหลายหลักสูตร อาทิ ช่างซ่อมบำรุงเกี่ยวกับรถบรรทุก การจัดระบบคลังสินค้า ผู้บังคับปั้นจั่น พนักงานขับรถยก Forklift โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการ สถานประกอบกิจการที่สนใจจัดส่งพนักงานเข้าอบรมสามารถติดต่อกับหน่วยงานของกพร. ได้ทุกจังหวัดทั้ง 76 แห่งและในกรุงเทพมหานคร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสื่อสารองค์กร 02 245 4035 หรือ สายด่วน 1506 กด 4 อธิบดี กพร. กล่าว