สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 26 ก.พ. 61- 2 มี.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 5-9 มี.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

05 Mar 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 62.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 62.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 77.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ 800 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 สัปดาห์
  • Energy Information Agency (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 423.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 130,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • นาย Fatih Birol Executive Director แถลงคาดการณ์ของ International Energy Agency (IEA) ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะแซงหน้ารัสเซีย และก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 1 ของโลก ภายในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale) เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่ นาย Jerome Powell แถลงการณ์ต่อรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ส่งสัญญาณว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) อาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมว่าจะเพิ่ม 3 ครั้ง โดยกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างสมดุล ระหว่างรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป และจะยังคงรักษาเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ที่ระดับ 2%

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเปิดเผยว่าการผลิตน้ำมันดิบของซาอุฯ ในไตรมาสที่ 1/61 จะต่ำกว่าข้อตกลงของ OPEC (ปริมาณ 10.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และการส่งออกจะเฉลี่ยต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • OPEC รายงานระดับความร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมัน (Compliance Rate) เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 149% (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5%) โดยปริมาณการผลิตน้ำมันเดือน ก.พ.61 ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ 32.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.พ. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 17,537 สัญญา มาอยู่ที่ 495,697 สัญญา เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 สัปดาห์
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.พ. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 21,077 สัญญา มาอยู่ที่ 544,372 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้นหลังเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า ในขณะที่ทั่วโลกจับตานโยบายกีดกันทางการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งนาย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กกล้า 25% และสำหรับอลูมิเนียม 10% โดยรายละเอียดขั้นสุดท้ายของนโยบายขึ้นภาษีน่าจะสรุปได้ภายในปลายสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาห์หน้า ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) และแคนาดาเตรียมมาตรการตอบโต้ ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2560 สหรัฐฯ นำเข้าเหล็กกล้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15% มาอยู่ที่ระดับ 35 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการใช้ในประเทศ โดยนำเข้าจากแคนาดาเป็นอันดับ 1 ขณะที่สหรัฐฯ นำเข้าอลูมิเนียมคิดเป็นร้อยละ 90 ของการใช้ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปั่นป่วน โดยเฉพาะหุ้นบริษัทเหล็กและผู้ผลิต ซึ่งพุ่งสูงขึ้นในระยะแรกจากนโยบายปกป้องของนาย Trump ก่อนร่วงลงเพราะนักลงทุนกลัวมาตรการตอบโต้ และเกรงจะเกิดสงครามการค้าในภาคส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังเริ่มมีความวิตกต่อราคาสินค้าที่มีส่วนประกอบเป็นเหล็กและอลูมิเนียมในสหรัฐฯ ขณะที่หุ้นทั่วโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากเฉพาะหุ้นกลุ่มผู้ส่งออกเหล็กกล้าที่ลดลง ส่วนเงินเยนแข็งค่าสุดในรอบกว่าปีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังสงครามการค้ายกฐานะเงินเยนในฐานะสินทรัพย์มั่นคง (Safe Haven) ด้านความเคลื่อนไหวของอุปทานน้ำมันดิบ แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (ปริมาณการผลิต 340,000 บาร์เรลต่อวัน) ของลิเบียปิดดำเนินการหลังพลเมืองท้องถิ่นประท้วงในประเด็นปัญหามลภาวะจากท่อขนส่งน้ำมันที่พาดผ่านบริเวณที่อยู่อาศัย อนึ่ง น้ำมันดิบจากแหล่ง El Sharara นอกจากจะผลิตเพื่อส่งออกแล้วยังป้อนเข้าโรงกลั่นน้ำมัน Zawiya (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อผลิตน้ำมันสำเร็จรูปใช้ในประเทศ ทั้งนี้ สัปดาห์ก่อน National Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียร่วมกับบริษัท Eni ของอิตาลีเพิ่งประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) อันมีผลให้ยุติการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง El Feel (ปริมาณการผลิต 130,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งต้องปิดดำเนินการเนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยประท้วงเรียกร้องสวัสดิการ ด้านความเคลื่อนไหวในวงการน้ำมันโลก ขณะนี้ ตลาดจับตาการประชุม CERAWeek ที่เมือง Houston ประเทศสหรัฐฯ ซึ่ง OPEC ถือโอกาสนี้หารือนอกรอบกับผู้ผลิต Shale Oil จากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุม CERAWeek เมื่อปีที่แล้ว แต่มิได้เกิดผลเชิงปฏิบัติเป็นรูปธรรม ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.0-66.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 60.0-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.5-63.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นในภูมิภาคหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง อาทิ โรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Formosa ไต้หวัน ปิดดำเนินการ CDU หน่วยที่ 1 และ 2 กำลังการกลั่นหน่วยละ 180,000 บาร์เรลต่อวัน ปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. – 30 เม.ย 61 และ โรงกลั่น Kawasaki (กำลังการกลั่น 335,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ บริษัท JXTG ญี่ปุ่น ปิดดำเนินการ CDU หน่วยที่ 2 ขนาด 65,000 บาร์เรลต่อวัน ปิดซ่อมบำรุงระหว่างวันที่ 5 มี.ค. – 5 เม.ย 61 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.03 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานตลาด Gasoline ในเอเชียซบเซา การซื้อขายเบาบาง และอุปทานล้นตลาด ในขณะที่อินเดียส่งออกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นทุกเส้นทาง ทั้งไปยังสหรัฐฯ, ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก และ บริษัท China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ของจีนขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 300,000-325,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 16-17 มี.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 70,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.36 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-77.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากภาวะอากาศหนาวเย็นในยุโรปทำให้ปริมาณส่งออกน้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นจากตะวันออกกลางสู่ยุโรปเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำของรัสเซียจากท่าเมือง Primorsk ในทะเลดำเดือน มี.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 7.3% อยู่ที่ระดับ 10.54 ล้านบาร์เรล และบริษัท Idemitsu ของญี่ปุ่นยังไม่กำหนดว่าหน่วย Residue Hydro Desulphurization (กำลังการผลิต 60,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Aichi (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) จะกลับมาดำเนินการเมื่อใด หลังปิดฉุกเฉินตั้งแต่เดือน ก.พ. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 180,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 8.92 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 310,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 7.49 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม บริษัท PetroVietnam ของเวียดนามเผยว่าโรงกลั่น Nghi Son (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) จะเริ่มเดินเครื่องทดสอบ ในวันที่ 28 ก.พ. 61 แต่ไม่มีการระบุวันที่จะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ อนึ่งเมื่อรวมกับโรงกลั่น Dung Quat (กำลังการกลั่น 130,000 บาร์เรลต่อวัน) จะสามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้ 80% ของอุปสงค์ในประเทศ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.5-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล