"ดีใจที่ได้เรียนต่อ" และบัตรประชาชนใบแรกในชีวิตของ 'เพชรดา จะนุ’ กับเลข 13 หลักพิสูจน์ความเป็นคนไทยแท้

05 Mar 2018
สิ้นสุดการรอคอยการพิสูจน์ความเป็นคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับหญิงสาววัย 24 ปี ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 'นางสาวเพชรดา จะนุ' หลังจากเป็นผู้หนึ่งที่มีเลขประจำตัวคือเลข 0 ไม่ใช่เลข 13 หลักตามหน้าบัตรประชาชนเหมือนคนไทยทั่วไป แม้ว่านางสาวเพชรดา จะนุ จะเกิดและเติบโตที่เมืองไทย มีบรรพบุรุษเป็นคนไทย แต่ด้วยการตกหล่นในเรื่องเอกสารบางชิ้น ทำให้เธอกลายเป็นคนขาดสิทธิความเป็นคนไทยมาตั้งแต่เกิด
"ดีใจที่ได้เรียนต่อ" และบัตรประชาชนใบแรกในชีวิตของ 'เพชรดา จะนุ’ กับเลข 13 หลักพิสูจน์ความเป็นคนไทยแท้

แต่ด้วยการแนะนำขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิ์ความเป็นคนไทยของ 'โครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคมฯ' โดยมี 'นางสาวเนตรดาว ยั่งยุบล' เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการ และเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ 'สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน' หรือ สสย. ภายในเวลาไม่ถึงปี 'นางสาวเพชรดา จะนุ' ก็ได้ครอบครองสิทธิความเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการมีบัตรประจำตัวประชาชนเลข 13 หลัก โดยนางสาวเพชรดา จะนุ ได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจจนบรรยายความรู้สึกไม่ถูก

"ได้รู้จักโครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคมฯ ที่มีหัวหน้าโครงการคือ 'พี่เนตรดาว ยั่งยุบล' ค่ะ ตอนนั้นพี่เขาทำประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงที่พึงมี และติดต่อขอสัมภาษณ์แม่ของหนู เลยทำให้หนูได้รู้จักพี่เนตรดาวและโครงการนี้ผ่านทางแม่อีกที จังหวะนั้นพี่เนตรดาวมีงานสัมมนาให้ความรู้ที่ จ.เชียงใหม่ ก็เลยชวนหนูไปร่วมงานด้วย แต่หนูไปไม่ได้เพราะบัตรประจำตัวเป็นเลข 0 ไม่ใช่เลข 13 หลักเหมือนคนไทยทั่วๆ ไป พี่เนตรดาวเลยแนะนำขั้นตอนที่ถูกต้องให้ว่าจะต้องพิสูจน์สิทธิ์อย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้ว่าเราเป็นคนไทยจริงๆ เพราะแม่หนูเป็นคนไทย หนูเกิดและโตที่ประเทศไทย ก็เลยต้องหาหลักฐานต่างๆ มายืนยันและพิสูจน์ให้ได้ตามกระบวนการพิสูจน์ว่าเราเป็นคนไทยจริงๆ สิ่งที่หนูใช้พิสูจน์และยืนยันความเป็นคนไทยก็คือ บัตรประชาชนของคุณตาและของแม่, การตรวจดีเอ็นเอที่ต้องส่งเลือดไปตรวจพิสูจน์ที่กรุงเทพฯ และหมอตำแยที่ทำคลอดเรารวมถึงผู้ใหญ่บ้านเซ็นยืนยันว่าหนูเกิดที่หมู่บ้านตะโกปิดทอง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จริงๆ เมื่อเอกสารต่างๆ ครบแล้วเราก็ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนเอกสารมาอยู่ที่ปลัดอำเภอสวนผึ้ง พอเขาตรวจเอกสารครบถ้วนแล้ว ก็ติดต่อให้หนูไปถ่ายบัตรประชาชนที่มีเลข 13 หลัก"

นางสาวเพชรดากล่าวว่า รู้สึกดีใจจนบอกไม่ถูก เพราะเป็นสิ่งที่รอคอยมาตลอดนับตั้งแต่จำความได้ เพราะการไม่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก ทำให้เธอและครอบครัวใช้ชีวิตยากลำบาก

"ดีใจจนบอกไม่ถูก เพราะเป็นสิ่งที่หนูรอคอยมาตลอดเวลา อยากเป็นคนไทยที่ถูกต้อง อยากมีบัตรประชาชนเหมือนคนอื่น ก็หาทางพิสูจน์มาตลอดจนถึงวันนี้ที่ได้บัตรประชาชน เมื่อก่อนไม่มีใครให้คำปรึกษาและไม่ได้ปรึกษาใครเลย มันท้อและหมดหวัง เพราะรู้ว่าตัวเองมีหมายเลข 0 ก็รู้แล้วว่าเราไม่มีสิทธิอะไรเลย ก็คิดว่าคงจะใช้ชีวิตอยู่แต่ในหมู่บ้านและแถวๆ นี้ไปตลอดชีวิต เพราะออกไปนอกพื้นที่ไม่ได้ จะไปเรียนต่อก็เลิกคิดไปเลย เพราะเวลาจะออกไปไหนมาไหนก็จะต้องเดินทางไปขออนุญาติที่อำเภอก่อนทุกครั้ง คงไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ อยู่แล้ว มันก็หมดกำลังใจเพราะคำว่าเลข 0 คือคนที่ไม่มีสิทธิ์อะไรเหมือนคนไทยพึงมี พอมีบัตรประชาชนเลข 13 หลักแล้ว ทำให้ชีวิตหนูดีขึ้นหลายด้านมากๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ การเดินทาง การสมัครงาน แม้เราจะเป็นเชื้อสายชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่ก็มีสัญชาติไทยนะ การเรียนก็มีโอกาสมากขึ้น อาจารย์ก็จะแนะนำให้ไปสอบทุนต่างๆ เพราะหนูคิดว่าการศึกษามันช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเรา อย่างหนูเองถ้าเรียนอยู่แต่ในหมู่บ้าน ก็จะได้เห็นแต่โลกแคบๆ แค่ในหมู่บ้าน ไปเรียน กลับมาบ้าน กินข้าว และนอน ไม่ได้ออกไปเห็นสังคมภายนอก ใครให้ทำอะไรเราก็อาจจะทำตามด้วยความไม่รู้ หนูก็เลยอยากให้น้องๆ และคนในหมู่บ้านของหนูได้รับการศึกษากันทุกคน ส่วนหนูชอบเรียนภาษาอังกฤษ และอนาคตอยากเป็นครูสอนภาษา และอยากกลับมาสอนมาให้ความรู้กับคนในชุมชน เพื่อให้พวกเขาได้มีความรู้มากขึ้น"

หวังเป็นอีกหนึ่งพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยให้คนในชุมชนได้รู้เรื่องสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของการได้มาซึ่งสิทธิของความเป็นคนไทยอย่างแท้จริง

"โครงการเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคมฯ เป็นโครงการที่ทำให้หนูได้รู้เรื่องสิทธิของตัวเองมากขึ้น เขาแนะนำและจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของตนเอง, สิทธิของความเป็นคนชาติพันธ์ และเรื่องของการใช้สื่ออย่างเท่าทัน หนูก็เลยอยากจะเผยแพร่เรื่องการยื่นเรื่องสิทธิให้กับน้องๆ และคนในชุมชนของหนู เพราะมีหลายคนที่เป็นคนไทยจริงๆ แต่อาจจะตกหล่นในเรื่องของทะเบียนบ้าน หรือขาดการพิสูจน์ต่างๆ ไม่รู้ขั้นตอน โครงการเยาวชนส่งเสียงฯ ทำให้เด็กๆ ในชุมชนมีความกระตือรือร้นที่จะได้รู้สิทธิของตนเองมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ไม่รู้จะเรียนไปทำไม อนาคตก็ไม่ต้องไปคิดฝัน เพราะจบมอ.3 แล้วก็จะต้องทำงานในละแวกใกล้บ้านอยู่ดี หนูก็เลยอยากเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะทำสื่อออกมาเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของตนเอง เพื่อให้น้องๆ รุ่นหลังและคนในชุมชนของหนูเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ตอนนี้หนูและเพื่อนๆ ที่มีแนวคิดเดียวกันก็รวมตัวกันได้ประมาณ 7-8 คนแล้วค่ะ ก็คิดว่าน่าจะทำประโยชน์ให้กับหมู่บ้านของเราได้มากขึ้นค่ะ"

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit