ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการใช้ความรู้จากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยมาตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยจึงได้วางแนวทางให้แต่ละมหาวิทยาลัยเร่งนำผลงานที่เกิดจากการคิดค้นทั้งในแง่ของงานวิจัย การประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งระบบสารสนเทศต่างๆที่มีความอัจฉริยะ มาร่วมต่อยอดและขยายผลให้เกิดการใช้งานได้จริง โดย ทปอ.ได้มุ่งผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผ่านกลไกการสร้างศูนย์นวัตกรรม หรือ Innovation Hubs ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ นำความรู้ที่มีอยู่มาต่อยอดขยายผลให้เกิดการใช้งานได้จริงทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำผลงานวิจัยมาใช้ให้เกิดผลผลิตที่เป็นได้ทั้งสินค้า หรือการบริการ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ศูนย์กลางด้านนวัตกรรม หรือ Innovation Hubs ในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่ 5 กลุ่มงานที่สำคัญ ได้แก่
1. Agriculture & Food หรือ ศูนย์นวัตกรรมเกษตรและอาหาร โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพชั้นนำเพื่อการบริโภคและส่งออก รวมถึงการส่งเสริมสตาร์ทอัพ การผลิตเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านบรรจุภัณฑ์ ผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งอาหารรูปแบบใหม่ๆที่มีฟังก์ชั่นตามกระแสที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจ โดยนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ข้าว Probiotic พร้อมชงจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น การพัฒนาโดรนอัจฉริยะเพื่อใช้ในการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2. Ageing Society หรือ ศูนย์นวัตกรรมสังคมสูงอายุ มุ่งเน้นอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ และการดูแลฟื้นฟูสุขภาพเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศและของโลก รวมทั้งนวัตกรรมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้พิการที่กำลังทวีคูณเพิ่มขึ้นในสังคม โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ หุ่นยนต์แพทย์เคลื่อนที่อัจฉริยะเพื่อการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช จาก มหาวิทยาลัยมหิดล "อิ่มละมุน" เจลลี่ผักสมุนไพรที่เป็นแหล่งของเหล็กสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลืน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น
3. Smart City หรือศูนย์รวมนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มจากข้อมูลเพื่อคมนาคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสาธารณูปโภค ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเมืองเพื่อให้มีความอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้น 5 ด้านได้แก่ Smart Mobility (การจราจร การขนส่ง)Smart Living (ด้านความเป็นอยู่และความปลอดภัย) Smart Economy (ด้านการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ) Smart Environment (ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน) Smart Utility (การบริหารจัดการสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะของเมือง) โดยมีต้นแบบนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น วงจรปุ่มกดช่วยเหลือไร้สายในบ้านเพื่อดูแลผู้สูงอายุ จากมหาวิทยาลัยบูรพา Intergrated Smart City Cloud Platform จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น
4. Bionergy หรือ ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านพลังงานชีวภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานชีวภาพที่เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะก๊าซชีวภาพ และชีวมวลสำหรับชุมชน รวมถึงการนำสิ่งมี่ใช้แล้วมาพัฒนาเป็นพลังงานต่างๆ โดยนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ศูนย์นวัตกรรมแปรรูปชีวมวลเหลือทิ้งด้วยนวัตกรรมเป็นเชื้อเพลิงแข็ง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและติดตั้งต้นแบบระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. Creative Economy หรือ ศูนย์รวมนวัตกรรมด้านสินค้าหรือการบริการสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้ต้นทุนหรือศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชน หรือท้องถิ่นในด้านต่างๆ อาทิ ภูมิปัญญา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานฝีมือ การออกแบบ รวมทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อก่อให้เกิดมูค่าใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ภาชนะรองรับทางชีวภาพอย่างสร้างสรรค์ และผ้ากะทอง จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายในการสนับสนุน Innovation Hub ก้าวต่อไป ของทปอ. จะเร่งผลักดันให้มหาวิทยาลัยภายใต้เครือข่ายทั้ง 160 แห่ง หยิบนำความโดดเด่นจากนวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้มาผนวกและพัฒนาให้เกิดชิ้นงานแบบใหม่ๆร่วมกัน โดยทปอ.มีพันธกิจส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การขยายความร่วมมือ ระหว่างเอกชน รัฐบาล และมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ 2. การพัฒนาพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน หรือสถาบันด้านนวัตกรรมและการวิจัยให้เกิดขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพภายใต้พื้นที่มหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบ 3. การสรรหาและเข้าสู่การเป็นส่วนเติมเต็ม โดยจะเร่งผลักดันให้มหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้ งานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์เข้าไปช่วยพัฒนาและแก้ปัญหาในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม และ 4. การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และนวัตกรรม เริ่มตั้งแต่ในระดับผู้บริหารระดับสูง คณบดี ครูอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรทั่วไปให้มีแนวความคิดในการผสมผสานการประยุกต์นวัตกรรมกับทักษะแต่ละด้านที่ตนเองถนัดหรือสนใจ โดยใช้ปัจจัยและระบบนิเวศที่เพียบพร้อมของสถาบันและบริบทโดยรอบเป็นตัวขับเคลื่อน
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้จัด University Expo 2018 มหกรรมอุดมศึกษา พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ร่วมบรรยายพิเศษในประเด็น การปฏิรูปการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศไทย พร้อมด้วยการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาภายใต้เครือข่าย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถร่วมงาน University Expo 2018 มหกรรมอุดมศึกษา พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 4 มีนาคม นี้ ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-345-5155 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/cuptthailand/
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit