โครงการปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปีที่ 7 ภายใต้แนวคิดสืบสาน "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" มีเป้าหมายสำคัญ คือ การขับเคลื่อนให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริงในศาสตร์พระราชา ผ่านการ "ลงมือปฏิบัติ" ดังที่ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้เคยกล่าวไว้ว่า "ขอให้เราเข้าใจคำสอนของพระองค์ และขอให้ลงมือทำเท่านั้น สำเร็จทุกอย่าง"
ในพิธีเปิดโครงการปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ปีที่ 7 เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" อาทิ โครงการฝนหลวง เศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฏีใหม่ ไบโอดีเซล แก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา และทุ่งกังหันลมในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ โดยได้เชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และตัวแทนภาคส่วนต่างๆ เข้ามร่วมงาน ภายในงานได้เปิดตัวบุคคลต้นแบบ ผู้ซึ่งดำเนินรอยตามแก่นแท้แห่งศาสตร์พระราชาด้วยการลงมือปฏิบัติจนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อาทิ ดร.เกริก มีมุ่งกิจ เทพแห่งเกษตรกร ผู้ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว นายเสกสรร อุ่นจิตติ เกษตรกรครีเอทีฟ เจ้าของฟาร์มผักออร์แกนิค "จอน นอนไร่" จังหวัดนครราชสีมา นายสุรัตน์ วงศ์ชาญศิลป์ นักธุรกิจร้อยล้าน ผู้ก่อตั้งคลินิกบาทเดียว นายโจน จันได ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ เกษตรกรผู้ปลดหนี้ 7 แสนภายใน 3 เดือน และผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จังหวัดระยอง
ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ผู้ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ได้ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก และแนวทางปฏิบัติ ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า "คนเรามักมองหาแต่สิ่งที่ตัวเองขาด ก็เลยมองพลาดในสิ่งที่ตัวเองมี ศาสตร์ของพระองค์ท่านนั้นสอนให้เราใช้สิ่งที่ตัวเองมี เน้นการลงมือทำเพื่อให้ยืนบนขาของตัวเองให้ได้ พึ่งพาตัวเองให้ได้ ซึ่งพระองค์ท่านทำให้เราเห็นเป็นตัวอย่างไว้แล้ว"
ด้านเจ้าของฟาร์มผักออร์แกนิค "จอน นอนไร่" นายเสกสรร อุ่นจิตติ กล่าวว่า "คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นอัตโนมัติ เป็นธรรมชาติมาก ๆ ด้วยการมองสิ่งต่าง ๆ ให้ง่ายและสำคัญคือต้องรู้จักตัวเอง รู้ว่าเราชำนาญเรื่องอะไรซึ่งไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ก็ได้ ท่านยังสอนให้เรารู้คิด คิดและเริ่มจากโมเดลเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายออกไป ผมรู้สึกว่ามันจริง เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปยืนหน้ามหาสมุทรโดยที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น"
"ถ้าคุณคิดแค่บนโต๊ะ โครงงานจะไม่แข็งแรง คุณต้องเหลาให้คมด้วยการปฏิบัติ เกิดปัญหาก็คิด คิดหาสาเหตุ หาทางแก้ไข ทำไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะพบความรู้ พบวิธีการใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเองเมื่อลงมือทำ งานที่ออกมาก็จะยิ่งคมและมีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น"
ด้านนายบัณฑิต ทองดี นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หนึ่งในตัวแทนภาคเอกชนด้านบันเทิง กล่าวว่า "ถึงแม้ในวันนี้พระองค์ท่านจะไม่ได้ประทับอยู่กับพวกเราแล้ว แต่ศาสตร์ของพระองค์ท่านยังอยู่ พระบรมราโชวาทของท่านที่เราน้อมนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตก็ยังมีอีกมาก อย่างความพอดีเท่าที่เราสามารถทำได้ ความพอเพียงที่เหมาะกับประโยชน์ใช้งาน หรือแม้แต่การเสียสละความคิดที่เห็นเฉพาะตัวเราออกไปเป็นการเห็นและให้แก่สังคมหรือประเทศชาติ"
ส่วนเก่ง ธชย ประทุมวรรณ นักร้องจากเวทีประกวดเดอะวอยซ์ ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า "หลักการของพระราชาไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด เราสามารถหยิบยกมาใช้ได้จริงทุกเรื่อง และผมคิดว่า จริง ๆ แล้ว ท่านกำลังสอนพวกเราให้เข้าถึงแก่นของความเป็นมนุษย์ อย่างการทำดี การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม นี่คือคุณสมบัติของการเป็นมนุษย์ที่ดี เราต้องทำ ทดลองทำ แล้วจะเห็นและเข้าใจได้จริง ๆ ถึงสิ่งที่ท่านทรงสอน ซึ่งหลักพอเพียงทำให้ผมพบความสุข เมื่อก่อนเคยตั้งคำถามกับตนเองว่า เราทำอะไร เราจะไปที่ไหน เราพยายามดิ้นรนค้นหาความสุข แต่ตอนนี้ความสุขของผมไม่ได้อยู่ไกล แต่คือการอยู่บนเวทีแล้วทำหน้าที่ในฐานะศิลปินให้ดีที่สุด มีความพอเพียงกับความสุขเมื่อสิ่งที่เราทำได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ"
และเพื่อให้ศาสตร์พระราชา ได้เผยแพร่และให้ประชาชนคนไทยได้นำมาปฏิบัติ กรมกิจการพลเรือน ทหารบก จึงได้จัดประกวดภาพวาด ภาพยนตร์สั้น และโมเดลศาสตร์พระราชา ในหัวข้อ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30 เมษายน 2561 โดยมีมูลค่ารางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท และดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.thailandwakeup.com หรือ www.facebook.com/Thailandwakeup