ปัจจุบันแม้ว่าจะได้มีการรับรองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในทุกฉบับที่ผ่านมา แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการทำงานด้านส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน กลับก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อผู้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องเผชิญกับการคุกคาม ข่มขู่ ทำร้าย ซึ่งหลายครั้งเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต และแม้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายล้วนต้องเผชิญกับภัยอันตรายร้ายแรง แต่ผู้หญิง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับภัยอันตรายและความไม่มั่นคงมากกว่า เนื่องจากลักษณะงานของบรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิงมักท้าทายขอบเขตความเชื่อทางวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมในสังคมไทย รวมทั้งการที่ยังไม่ให้ความสำคัญต่อบทบาทของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง โดยเห็นได้จากการมีสัดส่วนผู้หญิงที่ค่อนข้างน้อยในการแสดงบทบาทดังกล่าวจึงจำเป็นต้องรณรงค์เผยแพร่ให้สังคมไทยตระหนักรู้ถึงบทบาทของผู้หญิงและส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน [Women Human Rights Defenders (WHRDs)] มากขึ้น เป็นการสอดรับกับปฏิญญาสากลว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน อันเป็นกลไกที่สหประชาชาติได้ให้การรับรองไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2541
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงกำหนดจัดให้มีกิจกรรมการประกาศเกียรติยศ "สตรีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 " เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจในการเสียสละ อุทิศตน ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แก่ "ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" และส่งเสริมให้เกิดแบบอย่างที่ดีของสังคม เพื่อส่งเสริมให้สังคมเกิดการรับรู้ และเรียนรู้ร่วมกันในวงกว้าง จนเกิดความตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และความสำคัญของวันสตรีสากล และเพื่อรณรงค์ เผยแพร่ให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เข้าใจภาวะความยากลำบากและสภาพปัญหาของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงเปิดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสตรีในรอบปี ร่วมพิจารณาปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข และร่วมกันพัฒนากลไกในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไปอีกด้วย โดยงานจัดขึ้นในวันพุธที่ 7 มีนาคม 2561 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเวลา เวลา 10.30 – 13.30 น. เป็นต้นไป โดยสื่อมวลชนและประชาชนที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้จะได้พบกับกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากอาทิ
1. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
2. ทีมฟุตบอลบูคู FC
3. นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค
4. สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw)
5. ดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงา
6. หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส