นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าชุดดังกล่าวแล้ว พบว่าบริษัทผู้นำเข้าได้นำเข้าปลากลุ่ม Hirame หรือ Flatfish ประกอบด้วยปลา Flounder จำนวน 100 กิโลกรัมและ Sole 30 กิโลกรัม จากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งปลาชุดดังกล่าว ถูกกระจายสินค้าไปยังร้านอาหารในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนหลายร้าน โดยมาตรฐานในการตรวจสอบการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศนั้น อย. เป็นผู้รับผิดชอบติดตามตรวจสอบเรื่องปริมาณสารกัมมันตรังสีในอาหาร โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีปี พ.ศ. 2554 สำหรับสินค้าบริโภคที่จะนำเข้าต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ หรือ ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองระบุปริมาณไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดและ อย.เป็นผู้สุ่มตรวจควบคุม
ต่อมาปี พ.ศ. 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 370 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอาหารที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซึ่งระบุให้สินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นต้องมีหลักฐานระบุประเภท ชนิดอาหาร ปริมาณกัมมันตรังสีและพื้นที่ผลิตอาหารจากหน่วยงานที่กำหนด และต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวแสดงต่อด่าน และในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศฉบับที่ 371 เรื่อง กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าอาหารที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยยกเลิกประกาศฉบับที่ 370 และกำหนดเฉพาะเนื้อหมูป่าและเนื้อไก่ฟ้าญี่ปุ่น เนื้อกวางซิกะจากพื้นที่ จ.ฟุกูชิมะ กุมมะ และมิยางิ ประเทศญี่ปุ่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี และให้มีหลักฐานระบุประเภท ชนิดอาหาร ปริมาณกัมมันตรังสี และพื้นที่ผลิตอาหาร รวมถึงมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้าในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของปลาล็อตดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายเร่งด่วนสั่งการให้กรมประมงประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อประชุมหารือร่วมกันกำหนดมาตรการในการกำกับดูแล ตรวจสอบ ให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ อีกทั้งประสานกระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) เพื่อประชุมหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นที่จะยกระดับความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารอย่างต่อเนื่อง
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรณีสินค้าประมงที่นำเข้าตามที่เป็นข่าวนั้น มีการนำเข้าอย่างถูกต้องเป็นไปตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 รวมถึงเป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุขข้างต้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากการนำเข้าปลาจากทุกประเทศ เจ้าหน้าด่านตรวจประมงจะต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit