สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2561 ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลที่กำชับให้ทุกหน่วยงานมุ่งดำเนินงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชน โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ รวมถึงพัฒนาอาสาสมัครฝนหลวงร่วมเป็นทีมงานในการแจ้งสภาพอากาศ สอนวิธีการดูเมฆที่เหมาะสม และที่สำคัญคือการทำฝนหลวงต้องไม่กระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร โดยรายงานมายังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่รับทราบข้อมูล และนำมาวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาในการรายงานสภาพอากาศประจำวันที่แจ้งให้ประชาชนรับทราบ โดยเพิ่มเติมข้อมูลการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยกรณีที่พื้นที่ใดมีการขึ้นปฏิบัติการและจะมีการฝนเกิดขึ้นจากการขึ้นบินฝนหลวง เพื่อให้ประชาชนรับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานศาสตร์ฝนหลวงไว้ให้ นำมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ และประชาชนคนไทยให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากอย่างยั่งยืน
"สถานการณ์ช่วงฤดูแล้งในปีนี้ ซึ่งถือว่าสภาพน้ำเก็บกับในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศในภาพรวมถือว่ายังมีปริมาณน้ำเพียงพอ แต่สิ่งที่ทางกระทรวงเกษตรฯ กังวล คือ เมื่อปริมาณน้ำมาก ขณะที่พืชผลทางการเกษตรหลายตัวราคาดี เช่น ข้าว ก็เกรงว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวนอกฤดูกาลมาก ก็อาจจะเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำได้ ขณะเดียวกัน เมื่อผลผลิตมากราคาก็จะตกต่ำ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรในเขตชลประทานสามารถทำการเกษตรได้แต่ควรทำเกษตรแบบพืชใช้น้ำน้อย หรือการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดผลกระทบต่อผลผลิตที่จะเสี่ยงหายหากต้องประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ" นายกฤษฏา กล่า
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยมีแผนปฏิบัติการประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 2 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1 หน่วยฯ จังหวัดขอนแก่น ภาคกลาง จำนวน 2 หน่วยฯ จังหวัดนครสวรรค์ และกาญจนบุรี ภาคตะวันออก จำนวน 1 หน่วยฯ จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ จำนวน 1 หน่วยฯ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานร่วมบูรณาการที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำแข็งแห้งในการปฏิบัติการฝนหลวง กรมชลประทานและกรมป่าไม้ เรื่องบริหารจัดการน้ำและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การวิจัยพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ดำเนินโครงการอากาศยานไร้คนขับ UAV กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเกี่ยวกับการดัดแปรสภาพอากาศโดยพลุสารดูดความชื้นและพลุสารซิลเวอร์ไอโอไดร์ กับกองทัพอากาศ และการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือก กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นต้น