มรภ.สงขลา สืบทอดภูมิปัญญาทำว่าวควาย อัตลักษณ์สตูล

02 Mar 2018
วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา ดึงเด็กรุ่นใหม่ฝึกทำว่าวควาย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.สตูล หลังพบผู้เชี่ยวชาญลดจำนวน ส่งผลต่อการถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลัง ห่วงอาจสูญหายในที่สุด
มรภ.สงขลา สืบทอดภูมิปัญญาทำว่าวควาย อัตลักษณ์สตูล

ดร.ทวีสินธุ์ ตั้งเซ่ง อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการอบรมเทคนิคทำว่าวควาย ภายใต้อัตลักษณ์และคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณี จ.สตูล เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญในการทำว่าวควาย ซึ่งเป็นว่าวประจำภาคใต้และมีต้นกำเนิดที่ จ.สตูล เป็นที่แรก มีจำนวนลดน้อยลง ทั้งยังกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้ภูมิปัญญาทำว่าวควายขาดการถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลัง และอาจสูญหายไปในที่สุด ดังนั้น วิทยาลัยนวัตกรรมฯ มรภ.สงขลา จึงจัดอบรมเทคนิคการทำว่าวควาย เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชาวบ้านและเยาวชน เกี่ยวกับอัตลักษณ์และคุณค่าของภูมิปัญญาการทำว่าวควาย ในด้านประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น อันจะส่งผลให้เกิดความหวงแหนและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่

ดร.ทวีสินธุ์ กล่าวว่า ว่าวควายถือเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีแข่งขันว่าวนานาชาติ ที่สามารถสะท้อนเรื่องราวความเป็นมาของคนสตูลได้เป็นอย่างดี โดยทุกปีทางจังหวัดร่วมกับ อบจ.สตูล จัดการแข่งขันดังกล่าวขึ้น และได้รับความสนใจจากนานาประเทศ เข้าร่วมงาน โดยส่วนใหญ่รู้จัก จ.สตูล ผ่านสัญลักษณ์ว่าวควาย ซึ่งเป็นว่าวที่มีความสวยงามและมีลักษณะเด่นแตกต่างจากว่าวชนิดอื่น ตนจึงมีแนวคิดที่จะให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้และฝึกทำว่าวควาย ผ่านทางหลักสูตรการอบรมดังนี้ 1. ภูมิปัญญากับการพัฒนาท้องถิ่นในยุคไทยแลนด์ 4.0 2. อัตลักษณ์และคุณค่าภูมิปัญญาการทำว่าวควาย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน 3. อิทธิพลแรงลมต่อการก่อเกิดวัฒนธรรมประเพณีพื้นที่ จ.สตูล 4. เทคนิคการเตรียมไม้ไผ่สำหรับการทำโครงว่าวควาย 5. เทคนิคการผูกเชือกโครงว่าวควาย 6. เทคนิคติดกระดาษบนว่าวควาย 7. ศิลปะลวดลายบนตัวว่าวควาย 8. เทคนิคการสร้างลวดลายบนว่าวควาย และ 9. การละเล่นว่าวควาย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการละเล่นว่าวควาย

อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า ภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง การมีส่วนร่วมมหกรรมประเพณีการแข่งขันว่าวนานาชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ดำเนินรายการโดย ดร.นราวดี บัวขวัญ และมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายเวียง ตั้งรุ่น ปราชญ์ทางด้านว่าวควาย นายณพงศ์ ใบหมาดปันจอ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรม จ.สตูล นางวิไลลักษณ์ ทองช่วย อดีตครูโรงเรียนสตูลวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นสตูล น.ส.ภัชกุล ตรีพันธ์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการท่องเที่ยว สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.สตูล นายอมาตย์ สุปราณี ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.สตูล พร้อมทั้งสาธิตและฝึกปฏิบัติการขึ้นโครงว่าวควาย โดย นายเวียง ตั้งรุ่น และ ด.ต.อุทัย บุญช่วย

"อย่างน้อยโครงการบริการครั้งนี้ทำให้เข้าใจบริบทความเป็นสตูลในเชิงวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัย ที่ส่งเสริมให้พวกเราชาวนวัตกรรมและการจัดการ ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านบริการวิชาการดีๆ ในพื้นที่ จ.สตูล อีกหนึ่งโครงการ และขอขอบคุณ ร.ร.สตูลวิทยา ที่ทำให้เรามีความรักและผูกพันกับมรดกล้ำค่าที่เรียกว่า ว่าวควาย" อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา กล่าว

มรภ.สงขลา สืบทอดภูมิปัญญาทำว่าวควาย อัตลักษณ์สตูล มรภ.สงขลา สืบทอดภูมิปัญญาทำว่าวควาย อัตลักษณ์สตูล มรภ.สงขลา สืบทอดภูมิปัญญาทำว่าวควาย อัตลักษณ์สตูล