"ไทยแลนด์ 4.0" นโยบายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดยเน้นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ แล้วพึ่งพากันเอง ซึ่งปัจจัยสำคัญ ที่จะพาประเทศไปถึงเป้าหมายดังกล่าวคือ "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์" ที่ควรเริ่มจากกลุ่มคนที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต นั่นคือ "เด็กและเยาวชน"
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "จะเห็นได้ว่าในวงการการศึกษาขณะนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณลักษณะเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะในการทำงาน ทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการจัดการ แต่เราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรที่จะเปลี่ยนการเรียนในตำรา ให้กลายเป็นการพัฒนาทักษะความสามารถ ในขณะเดียวกันผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็บอกเสมอว่า เด็กจะมีความรู้อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นคนดี ต้องมีความเคารพผู้ใหญ่ เข้าใจขนบธรรมเนียม วิถีวัฒนธรรมไทย ซึ่งพวกเขาจะเข้าใจเมื่อได้มาสัมผัสกับลุงป้าที่อยู่ในชุมชน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้เรียน เพราะอ่านตำราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ …การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้นอกตำรา ทำให้เด็ก ๆ ได้เกิดการพัฒนาตนเอง การเรียนรู้รากเหง้าและภูมิปัญญาชุมชน จะทำให้จิตใจเขาอ่อนโยนลง ไม่หยาบกระด้าง การที่ได้เรียนรู้ทุกข์ของชุมชน ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับชุมชน เราได้เห็นภาพแล้วว่าโครงการเหล่านี้คือการสร้างคน สร้างคนรุ่นใหม่ให้แก่ชุมชน เกิดกลไกพัฒนาเยาวชนในระยะยาว"
ด้านศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า "ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยเป็นระบบการศึกษาเพื่อสอบ เพราะว่าเราไปเชื่อว่าการศึกษา เป็นการติว เป็นการสอบ เป็นการคัดเลือก แต่การศึกษาที่แท้จริงคือ การศึกษาที่ลงไปสู่การปฏิบัติไปสู่การเรียนรู้ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อการทดสอบ จนในที่สุด เด็กทั้งประเทศเป็น Passive citizenไม่ใช่ Active Citizen ทำให้เด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อน แต่กลับกลายเป็นคนก้าวร้าว ไม่ชอบเล่น ไม่ชอบสังคม คิดมิติของคุณคนเดียว และถ้าหากเรายังไม่ปฏิรูป ยังไม่เปลี่ยนแปลง เชื่อเลยว่าอีก 20 ปีข้างหน้า เราก็จะมีแต่พลเมืองที่เนือยนิ่ง และจะอยู่ตามลำพัง อยู่กับเทคโนโลยี แต่ไม่รักบ้านเกิด ไม่รักประเทศ ไม่มีจิตอาสา อันตรายมากเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องทำให้เกิดขึ้น คือ 1.การปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากการฟังเสียงเด็ก ไม่ใช่ฟังเสียงครู ไม่ใช่ฟังเสียงพี่เลี้ยง และเข้าใจสิ่งที่เด็กคิดและถาม สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับคนทั้งประเทศ 2.การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมต้องมาจากคนในชุมชน จากพวกกลุ่มเด็กและบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้นำ นายก อบจ. ต่างต้องมีส่วนร่วมช่วยกันให้เกิด Active Citizen เพราะการมีส่วนร่วมภายใน คือ คำตอบของความยั่งยืนและความต่อเนื่อง แต่ถ้าเรายังปล่อยให้ลูกหลานเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียน ไม่เคยออกนอกห้องเรียน นอกมหาวิทยาลัย ไม่ออกไปสู่เรื่องอะไรต่างๆ ไม่มีทางสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ได้สำเร็จ อีกส่วนหนึ่งการสร้างกิจกรรมทักษะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนออกแบบเอง จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และเขาสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนากลุ่ม พัฒนาอะไรได้หลายๆอย่าง ข้อสุดท้าย คือ การใช้โจทย์ชุมชนขัดเกลา คือ การให้เด็กได้ลงไปเรียนรู้กับปู่ย่าตาทวด ผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญา เป็นปราชญ์ คนที่รู้เรื่องประวัติศาสต์ท้องถิ่น โดยผ่านการทำงานและโครงการเพื่อชุมชน (Community Project) ต้องพยายามให้เด็กที่ลงพื้นที่หลายๆ ครั้ง ให้เขาลงไปพูดคุยกับคนกลุ่มนี้ จะทำให้ภาษาและวัฒนธรรม และต้นทุนที่เด็กๆ มีอยู่ จูนเข้าหากับผู้ใหญ่ได้ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือทั้งสองวัยต่างได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เกิดการผสมผสานให้เกิดศาสตร์ใหม่ ดังนั้น การศึกษาแบบนี้ จะทำให้เกิดคำว่า Active Citizen แน่นอน และจะเป็น Active ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป"
เฉกเช่นที่ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดพื้นที่และโอกาสให้เยาวชนในภาคตะวันตก ประกอบด้วย สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี ได้แสดงศักยภาพทำโครงการบนฐานทุนของชุมชน (Community Project) ตามความสนใจ มาเป็นเวลากว่า 3 ปี
ด้านผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก กล่าวว่า "สังคมปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและเกิดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้สูงอายุค่อนข้างมาก แต่ตัวที่จะลดช่องว่างตรงนี้ได้ ก็คือ การเรียนรู้จากการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ใหญ่ไปสู่เด็ก ซึ่งเด็กก็จะได้เรียนรู้และนำเรื่องราวเหล่านี้ไปประยุกต์ และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยของเขา ซึ่งทางโครงการได้ลงไปทำกระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning กับเยาวชนภาคตะวันตกใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ระดับมัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา ให้ตระหนักถึงความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนใจเรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นของตนเองผ่านการทำ Community Project เรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นของตนเองอันจะนำไปสู่การสร้างจิตสาธารณะและกระตุ้นสำนึกการเป็นพลเมืองของเยาวชน โดยดึงคนในชุมชนทุกช่วงวัยเข้ามาร่วมในการจัดการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ เน้นการจัดการเรียนรู้ในลักษณะของผู้ใหญ่เล่าขาน เด็กสานสืบต่อเรื่องราวของชุมชน ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจระหว่างกันของเด็ก เยาวชน กับผู้ใหญ่ไปจนกระทั่งผู้สูงอายุ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนผ่านการดูแลซึ่งกันและกันของคนในชุมชนตลอดจนเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้สูงอายุ ไม่เพียงแต่จะแก้ไขปัญหาในระดับโครงการที่เด็กและเยาวชนสนใจ แต่เป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยที่กำลังเป็นสถานการณ์ปัญหาที่รุนแรงของสังคมภาคตะวันตกอีกด้วย…ขณะเดียวกันการเรียนรู้แบบ Active Learningผลลัพธ์ที่เกิดไม่ได้เปลี่ยนแปลงเยาวชนแค่ในระยะสั้นแต่ยังส่งผลระยะยาว ส่งผลให้เด็กเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ได้แบบนี้จะต้องมีการออกแบบกระบวนการร่วมกันของพี่เลี้ยงที่เข้าใจ และต้องมีกระบวนการที่ทำให้พี่เลี้ยงเปิดพื้นที่ และโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ ได้ลงมือสัมผัสประสบการณ์จริงในพื้นที่จริง มีกระบวนการเติมทักษะ เช่น ทักษะด้านการสื่อสาร การฟัง การตั้งคำถาม การเชื่อมโยงความรู้จากชุมชนกับห้องเรียนเอามาปรับใช้ รวมถึงออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะเด็กที่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ผู้ใหญ่ในชุมชน ครูที่ปรึกษา และทีมพี่เลี้ยงในโครงการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วยเช่นกัน…โดย3 ปี ที่ผ่านมาเราได้เยาวชนที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ที่ผ่านการเรียนรู้เรื่องราวในชุมชนถิ่น ทั้งสิ้น 345 คน พี่เลี้ยง ที่ปรึกษาโครงการที่เป็นพ่อแม่ แกนนำชุมชนท้องถิ่น ครูอาจารย์ อีกกว่า 48 คน"
วันนี้เยาวชนจากโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ทั้ง 4 จังหวัด ต่างได้ลงมือทำงานร่วมกับชุมชนจนเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เห็นถึงความสำคัญของช่วยเหลือชุมชน สังคม ลุกขึ้นมาอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นพลังพลเมืองที่เกิดขึ้นในตัวคนรุ่นใหม่ จากพลังเล็กๆ ของเด็กและเยาวชนที่ได้รับโอกาสให้ลงมือทำสิ่งที่สนใจ ภายใต้เงื่อนไขการสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม จนเกิดการพัฒนาทักษะและความสามารถ และปลุกสำนึกพลเมืองภายในให้พร้อมลงมือทำสิ่งดีๆเพื่อสังคมโดยไม่รีรอ…
เพราะชีวิตจริงในโลกปัจจุบันการเรียนรู้ไม่ได้มีอยู่แค่สายวิทย์ สายศิลป์ หรือสายอาชีวะ เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อนอีกต่อไป การมีประสบการณ์ในการทำงานจากสถานการณ์จริงและได้ลงมือทำจริงโดยผ่านเรื่องราวชุมชนท้องถิ่นต่างหากที่จะสอนให้เยาวชนเป็นคนที่มีคุณลักษณะตรงตามที่สังคมต้องการ คือ สามารถ"ใช้ความรู้เป็นและเป็นคนดี" มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน แต่สิ่งที่สำคัญไปมากกว่านั้น คือ ทำอย่างไรให้ทักษะที่ได้จากการเรียนรู้แบบนี้ เกิดขึ้นทุกย่อมหญ้าของประเทศไทย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit