นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า กูเกิลคัลเชอรัลอินสติติวท์ (Google Cultural Institute) คือเครื่องมือหนึ่งของทางกูเกิล ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม สามารถชมพิพิธภัณฑ์ได้แบบเสมือนจริง (Virtual Reality) รวมไปถึงฟังก์ชั่นการชมนิทรรศการต่างๆ พร้อมรายละเอียดในแต่ละส่วน และสามารถชมภาพศิลปะความละเอียดสูง พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุและภาพศิลปะต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ โดยปัจจุบันสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้มากกว่า 850 แห่งทั่วโลก และนิทรรศการอีกมากมาย ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงพิพิธภัณฑ์เพียง 7 แห่งเท่านั้นที่สามารถเข้าชมผ่านเว็ปไซต์กูเกิลคัลเชอรัลอินสติติวท์ได้
นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ร่วมมือกับ กูเกิลคัลเชอรัลอินสติติวท์ (Google Cultural Institute) นำเสนอเนื้อหานิทรรศการ "ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ" (Insight | Thai | Architecture) หนึ่งในนิทรรศการประวัติศาสตร์ของไทยที่ควรค่าแก่การเก็บรักษา นิทรรศการนำเสนอศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย ที่ปรากฏบนพระเมรุมาศและพระที่นั่งทรงธรรม สถาปัตยกรรมชั่วคราวในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยได้จัดทำเป็นเนื้อหานิทรรศการออนไลน์ ประกอบไปด้วย รูปภาพ คำบรรยาย และวิดีโอความละเอียดสูง พร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อให้ประชาชนคนไทย เยาวชนรุ่นหลัง รวมถึงชาวต่างชาติที่มีความสนใจในศิลปวัฒนธรรมไทยได้ศึกษา เข้าชม
เนื้อหาในนิทรรศการถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน เช่นเดียวกับนิทรรศการจริงที่ถูกจัดแสดง ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม 2560 – 7 มกราคม 2561 ได้แก่ 1) โซน "คติจักรวาล" นำเสนอความเชื่อทางศาสนาที่ส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย 2) โซน "แบบจำลองพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9" บอกเล่าพัฒนาการในการออกแบบสถาปัตยกรรมชั่วคราวในช่วงรัตนโกสินทร์ 3) โซน "ห้องจำลองโรงขยายแบบ" แสดงกระบวนการร่างแบบพระเมรุมาศขนาดเท่าจริง และการจัดแสดงแบบร่างมือในส่วนงานสร้างพระเมรุมาศ และพระที่นั่งทรงธรรม 4) โซน "ต้นแบบงานก่อนออกสู่สาธารณะ" จัดแสดงชิ้นงานสำเร็จทางจิตกรรม ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่ใช้งานพระราชพิธี 5) โซน "แรงบันดาลใจจากครูสู่งานสถาปัตย์ไทย" บอกเล่าแนวความคิดและวิถีการถ่ายทอดความรู้จากครูทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ "ศาสตรา สถาปัตย์ ไทย: พระเมรุมาศ จุดเชื่อมจักรวาลและการออกแบบ" (Insight | Thai | Architecture) แบบออนไลน์ได้ที่ https://artsandculture.google.com/exhibit/RwKihz4TUTJ3JQ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ โทรศัพท์ 02-105-7441 และ www.tcdc.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit