นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายเสน่ห์ สภาพันธ์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายณรงค์พล พัฒนศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 และเจ้าหน้าที่สำนักนายทะเบียนและกฎหมาย กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและรับหนังสือร้องเรียนจากนายกิ่งแก้ว โยมเมือง หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย กลุ่มธรรมาภิบาล ซึ่งได้นำตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด กว่า 30 คนเข้าพบ เพื่อขอให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์จากกรณีที่อดีตคณะกรรมการสหกรณ์ปล่อยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ 6 ราย ตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 199 สัญญา วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน และเป็นการอนุมัติวงเงินกู้ที่ขัดต่อระเบียบของสหกรณ์ ส่งผลทำให้ปัจจุบันนี้สหกรณ์ขาดสภาพคล่อง และกระทบกับสมาชิกสหกรณ์ไม่สามารถถอนเงินฝากและขอกู้เงินจากสหกรณ์ได้ ดังนั้น ตัวแทนสมาชิกจึงได้รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาช่วยเหลือในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนภายใน 15 วัน เนื่องจากเกรงว่าสหกรณ์จะประสบปัญหาการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขอให้ปลดคณะกรรมการสหกรณ์ชุดปัจจุบัน จำนวน 8 คน เนื่องจากเคยเป็นกรรมการในชุดที่ 7-10 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว และขอให้ใช้อำนาจนายทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ชั่วคราวเข้ามาบริหารสหกรณ์ เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และที่ผ่านมาได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ลงไปตรวจสอบและติดตามแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นพบว่า อดีตประธานสหกรณ์กับพวกได้มีการปลอมแปลงเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 7 ครั้งที่ 3 เพื่อให้มีการอนุมัติเงินกู้เพื่อนำไปจัดซื้อที่ดิน และยังได้ปลอมแปลงมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ ทำให้มีการอนุมัติเงินกู้นำเงินออกไปจากสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2555 จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อหาเอกสารรายงานการประชุมฉบับจริงว่าในการประชุมคณะกรรมการสหกรณ์ชุดที่ 7 ได้มีการพูดถึงการอนุมัติเงินกู้หรือไม่ ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่ามีการปลอมแปลงเอกสารจริง และยังมีพยานบุคคลที่อยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ที่สามารถยืนยันได้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการฯในครั้งนั้นไม่ได้มีการอนุมัติเงินกู้ดังกล่าว ก็สามารถนำมายื่นประกอบการพิจารณาดำเนินคดีได้
นอกจากนี้ ในข้อร้องเรียนของสมาชิกสหกรณ์ขอให้ประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เนื่องจากต้องการติดตามเงินกู้ที่ลูกหนี้ 6 คนได้กู้ไปว่านำเงินไปใช้ดำเนินการในเรื่องใดบ้าง และรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ส่วนหนึ่งได้ไปยื่นหนังสือร้องทุกข์ไว้กับทางปปง.แล้ว และขอให้กรมฯได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษด้วย ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอได้เข้ามาสอบข้อเท็จจริงจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว
"กรมฯได้ติดตามและช่วยบรรเทาปัญหามาโดยลำดับ เหลืออีกเรื่องเดียวคือการปลดกรรมการฯ ก็จะเร่งรัดดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ในการใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์สั่งปลดกรรมการสหกรณ์ฯจะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอว่ากระทำการให้สหกรณ์เกิดความเสียหายจึงจะสามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ หากข้อมูลหรือหลักฐานยังไม่เพียงพอก็ต้องหาเพิ่มเติม และเมื่อได้มีการสั่งปลดกรรมการสหกรณ์ชุดปัจจุบันแล้ว ต้องมีการหารือถึงการตั้งคณะกรรมการชั่วคราวเข้ามาบริหารงานสหกรณ์ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไป ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์แห่งนั้นจะเป็นผู้เสนอว่าเห็นควรให้ใครมาเป็นคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ชั่วคราว โดยต้องเสนอผ่านทางผู้ตรวจราชการกรมฯเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวมาบริหารงานสหกรณ์ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 180 วันและดำเนินการจัดประชุมใหญ่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ชุดปกติเข้ามาบริหารงานต่อ" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 23 มีนาคม นี้ ทางสหกรณ์จะจัดทำแผนฟื้นฟูฯเพื่อเจรจากับสหกรณ์เจ้าหนี้ที่มาฝากเงินไว้กับสหกรณ์ ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด เพื่อเจรจาขอลดดอกเบี้ยและยืดอายุการผ่อนชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของสหกรณ์ลง และหากสหกรณ์เจ้าหนี้ยังมีความมั่นใจในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด จะถอนแค่ดอกเบี้ยแต่ยังคงเงินต้นไว้ และทยอยส่งชำระคืน ก็คาดว่าจะสามารถพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันและสามารถผ่านพ้นในช่วงวิกฤตินี้ไปได้ในที่สุดนอกจากนี้ยังมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฯสำรวจจำนวนสมาชิกที่ไม่สามารถถอนเงินหรือกู้เงินจากสหกรณ์ได้มีอยู่จำนวนเท่าไหร่ และจะมีแผนในการบริหารจัดการและดูแลเยียวยาสมาชิกอย่างไร ซึ่งในเบื้องต้นสมาชิกที่ต้องการมาขอกู้เงิน ขอกู้เปลี่ยนสัญญาหรือขอถอนเงินจากสหกรณ์นั้น ในเบื้องต้นอาจให้กู้ได้แค่ฉุกเฉิน เพราะจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 รายงานว่าในแต่ละเดือนสหกรณ์จะได้รับเงินชำระหนี้จากสมาชิกทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเดือนละ 50 ล้านบาท ซึ่งทางสหกรณ์จะนำไปชำระหนี้ให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินกู้เดือนละ 30 ล้านบาท ยังมีเงินเหลือไว้บริหารในสหกรณ์อีก 18-20 ล้านบาท ที่สามารถให้สมาชิกมาถอนเงินหรือกู้เงินจากสหกรณ์ได้ ส่วนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในขณะนี้คือ การทำความเข้าใจกับสมาชิกสหกรณ์ที่มีอยู่กว่า 6,000 คนให้คลายความวิตกกังวล ซึ่งขณะนี้เป็นห่วงสภาพจิตใจของสมาชิก เกรงจะเสียขวัญกำลังใจ จึงอยากให้ ทุกฝ่ายได้หันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาสหกรณ์ให้ผ่านพ้นไปได้อย่างลุล่วง โดยจะต้องเรียกความเชื่อมั่นจากสมาชิกและสร้างเสถียรภาพของสหกรณ์ให้กลับคืนมาโดยเร็ว
"ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการขาดหลักธรรมาภิบาลของอดีตผู้บริหารสหกรณ์ ที่ดำเนินการไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมวลสมาชิก ว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากผลของการกระทำของตนเอง จึงขอย้ำกับสมาชิกสหกรณ์ทุกสหกรณ์ ให้มีการติดตามตรวจสอบว่าผู้บริหารสหกรณ์ของตนเองว่า เขาบริหารสหกรณ์อย่างไร ใช้จ่ายเงินของสหกรณ์อย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่ มีการปล่อยเงินกู้หรือนำเงินไปลงทุนที่มีความเสี่ยงหรือไม่ อย่าปล่อยให้ผ่านไปและรอรับเพียงเงินปันผลปีละครั้ง ซึ่งการที่สมาชิกรับเงินปันผลทุกปี แต่ไม่รู้เลยว่าคณะกรรมการของสหกรณ์มีการทุจริตเงินสหกรณ์ไปใช้ส่วนตัว ก็เป็นการทำร้ายสหกรณ์และจะส่งผลทำให้สหกรณ์นั้น เกิดความเสียหาย อาจถึงขั้นล้มละลายได้ในที่สุด" รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit