นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนาม ลาว และทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว คาดว่าในช่วงวันที่ 20-23 มีนาคม 2561 จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 61 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 17 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 20 - 23 มีนาคม 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย เพื่อวิเคราะห์และประเมินปัจจัยเสี่ยงภัยในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้งเพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงเพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ตลอดจนห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป