นายวีระ กล่าวอีกว่า สืบเนื่องจากละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ประพันธ์โดย "รอมแพง" ก่อให้เกิดกระแสเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่และประชาชน สนใจค้นคว้าหาข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและนิยมแต่งกายด้วยชุดไทยอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญในละคร "บุพเพสันนิวาส" ได้กล่าวถึงหนังสือจินดามณีหนังสือเรียนเล่มแรกของไทย ซึ่งพระโหราธิบดีเป็นผู้เขียน ทำให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ สอบถามมายังกรมศิลปากรจำนวนมาก ว่าต้องการอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวและอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก เนื่องจากทราบว่า กรมศิลปากรเคยจัดพิมพ์จินดามณีเผยแพร่มาแล้ว 1 ครั้ง การจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้จัดพิมพ์ตามฉบับจินดามณี เล่ม 1 และนำสำเนาเอกสารสมุดไทยหนังสือจินดามณี เอกสารเลขที่ 83 จินดามณีฉบับใหญ่ เอกสารเลขที่ 4 และจินดามณี เล่ม 2 เอกสารที่ 29 รวมจัดพิมพ์เป็น "จินดามณี เล่ม 1 และจินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์" การจัดพิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อให้ทุกคนได้เห็นลักษณะของหนังสือแบบเรียนไทยในอดีต ที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการที่สนใจวรรณคดีและอักษรศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษา
ทั้งนี้ "จินดามณี" เป็นหนังสือเรียนเล่มแรกของไทย ซึ่งพระโหราธิบดี เป็นผู้เขียนและเชื่อว่าใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในการสอนพื้นฐานด้านอักขรวิทยา เช่น อักษรศัพท์ว่าด้วยคำศัพท์ที่มักเขียนผิด ความหมายของศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตและเขมร ตัวอย่างคำที่ใช้ ส, ศ, ษ ตัวอย่างคำที่ใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ด้านบทประพันธ์ร้อยกรองได้อธิบายโคลง ฉันท์ การประพันธ์ ร้อยกรองประเภทต่างๆ พร้อมยกตัวอย่าง
คำว่า "จินดามณี" แปลว่า แก้วสารพัดนึก หมายถึง แก้วอันอาจให้ประโยชน์ทุกประการแก่ผู้ครอบครองดังใจนึก (แก้วเปรียบดังปัญญาได้) อย่างไรก็ตามหนังสือจินดามณี มีหลายฉบับ มีเนื้อหาแตกต่างกัน เช่น ฉบับพระโหราธิบดี แต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฉบับไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ และฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น อย่างที่ทราบกันดีว่าหนังสือเล่มดังกล่าวถือว่ามีคุณค่าเชิงวรรณคดีและอักษรศาสตร์แล้ว ยังเป็นต้นแบบของหนังสือแบบเรียนไทยที่แต่งขึ้นในชั้นหลังด้วย