นางสาวมิลิน ดอกเทียน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เล่าว่า จากการเข้าศึกษา ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพัฒนาขึ้นเพื่อฟื้นฟูและบำบัดแหล่งน้ำเสียให้กลายเป็นแหล่งน้ำดี ด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด ซึ่งทำให้ตนรู้สึกรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น และตั้งใจเดินตามรอยในการพัฒนาและปรับสภาพแวดล้อมที่เสียสมดุลให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ประกอบกับความสนใจด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอาสาปลูกป่าชายเลน จึงทำให้ตนเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ซึ่งเน้นการศึกษาเรียนรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ลงมือปฏิบัติในห้องปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น อาทิ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นต้น รวมถึงการป้องกันมลพิษสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นางสาวมิลิน เล่าต่อว่า สำหรับการเรียนในหลักสูตรดังกล่าว จะเน้นการเรียนรู้เทคนิคการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment :EIA) ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นการเรียนด้าน EIA ที่เข้มข้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 หากเทียบกับสาขาเดียวกันในสถาบันการศึกษาอื่น โดยจะเน้นการวิเคราะห์ ประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม อาทิ ในการก่อสร้างอาคารต่างๆ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน โดยเลือกเจาะถนนในช่วงเวลา ที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยรอบโครงการน้อยที่สุด มีผ้าแปลนสีเขียว คลุมตึกเพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ฯลฯ พร้อมกันนี้ ในแต่ละรายวิชา จะกำหนดให้มีการลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างข้อมูลมาศึกษาต่อ อาทิ การเก็บตัวอย่างน้ำหลังโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำมาตรวจหาปริมาณการปนเปื้อนของน้ำภายในห้องปฏิบัติการวิเคราะห์น้ำเสีย ของสาขาวิชาฯ การศึกษาระบบนิเวศในธรรมชาติและสำรวจแหล่งโบราณสถาน เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์แหล่งมรดกทางธรรมชาติ และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการศึกษาภาคสนาม มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงงานผลิตน้ำประปา ได้เรียนรู้กระบวนการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ทั้งการบำบัด การเก็บตัวอย่างน้ำจากในหลากหลายพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพของแหล่งน้ำ ทั้งการตรวจหาจุลินทรีย์ในน้ำ การตรวจหาโลหะหนัก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ จึงทำให้ตนอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือนักวิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากบุคลากรในด้านดังกล่าว ยังมีความต้องการสูงในหลากหลายหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญในการกลั่นกรอง และชี้วัดถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในอนาคต หากมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารประเทศระดับสูง ด้านสิ่งแวดล้อม จะกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนและเด็ดขาด สำหรับผู้กระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีข้อยกเว้น นางสาวมิลิน เล่าทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือหลักสูตรอื่นๆ ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.reg.tu.ac.th ในรอบรับตรงร่วมกัน ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 และรอบแอดมิชชั่นกลาง ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2561 สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายรับเข้าศึกษา มธ. โทร. 02-564-4441-79 ต่อ 1634-1638 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit