ดร.เสนีย์ สุวรรณดี รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินของโลกและประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ทำให้การเดินทางทางอากาศกลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกในการเดินทางที่สะดวก ประหยัดเวลา นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมทางด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายการพัฒนาประเทศในระยะยาว ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินมีการขยายตัว แต่บุคลากรในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกลับเข้าสู่สภาวะขาดแคลนอย่างมากโดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นสัญชาติไทย
"การขนส่งทางอากาศเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยประเทศไทยถือว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการบินเชิงพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีปริมาณนักเดินทางมากกว่า 90 ล้านคนต่อปี การเดินทางโดยเครื่องบินนับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ประหยัดเวลา เพิ่มความสะดวกสบาย ตลอดจนตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างรวดเร็ว และเกิดการแข่งขันกันระหว่างสายการบินระดับพรีเมี่ยมและสายการบินต้นทุนต่ำ" ดร.เสนีย์ สุวรรณดี กล่าว
สำหรับสถิติจำนวนเที่ยวบินพาณิชย์ในประเทศไทยที่รายงานโดยกรมท่าอากาศยาน (พ.ศ.2560) ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 40,000 เที่ยวบิน ในปี พ.ศ. 2553 เป็น 1.4 แสนเที่ยวบิน ในปีพ.ศ. 2560 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจากหลายปัจจัยข้างต้นทำให้จำนวนความต้องการการใช้เครื่องบินพาณิชย์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย นอกจานี้การรายงานแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินของโลก บริษัทแอร์บัสได้คาดการณ์ว่า ใน 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินกว่า 4,000 ลำ และมีความต้องการนักบินจำนวน 5.3 แสนคน และ ช่างซ่อมบำรุงจำนวน 5.5 แสนคน ในขณะที่บริษัทโบอิ้งระบุว่าทั่วโลกจะมีความต้องการเครื่องบินกว่า 41,000 ลำ และมีความต้องการนักบินจำนวน 6.17 แสนคน ตลอดจนช่างซ่อมบำรุงจำนวน 6.79 แสนคน นอกจากนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ไว้ว่า ความต้องการบุคลากรด้านการบิน บุคลากรด้านการควบคุมการจราจรทางอากาศ และ ช่างอากาศยานในภูมิภาคเอเชียจะมีมากถึง 40,000 คน
จากแนวโน้มข้างต้น รัฐบาลไทยได้ผลักดันให้มีการขยายท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของท่าอากาศยานไทย เพื่อรองรับผู้โดยสารจากเดิม 83.5 ล้านคนต่อปี เป็น 184 ล้านคนต่อปี โดยการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิจากเดิม 45 ล้านคนต่อปีเป็น 60 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติการขยายสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติหลัก (แห่งที่ 3) ของประเทศไทย ตลอดจนใช้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่ EEC และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ในขณะเดียวกันสายการบินต่างๆ ทั่วโลกก็มีการขยายตัวเช่นกันโดยมีแนวโน้มจะสั่งซื้ออากาศยานเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ในปัจจุบันมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินส่งผลให้มีการขยายเส้นทางการบินเพิ่มมากขึ้น จึงมีความต้องการด้านทรัพยากรมนุษย์ในสาขาอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นการขยายโอกาสในด้านสาขาอาชีพทั่วทุกภาคส่วนให้แก่คนไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งภาครัฐให้ความสำคัญในการเติบโตดังกล่าวจึงได้จัดทำแผนการพัฒนาเพิ่มจำนวนบุคลากรการบินของไทยในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมการบินที่เพิ่มขึ้น จากผลสำรวจยังพบว่าบุคลากรในประเภทนักบิน (Pilot) และช่างซ่อมอากาศยาน (Aircraft Mechanic) ประสบปัญหาขาดแคลนสูงสุด ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบัน ทำให้เกิดสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจสายการบินและเกิดการแย่งบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางที่มีศักยภาพ หากปัญหาขาดแคลนบุคลากรยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมากในอนาคต รวมทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
ทั้งนี้เพื่อรองรับแผนการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินอย่างมีประสิทธิผล สถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านการพัฒนาการบินที่ครบวงจร จึงเดินหน้าเปิดหลักสูตรการบินครบวงจร (One Stop Total Solutions) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย และเสริมทัพความเข้มแข็งด้วยการเปิดหลักสูตรนักบินและช่างซ่อมบำรุง ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก พร้อมปักธงขึ้นแทนเป็น 1 ใน 3 สถาบันการบินคุณภาพของประเทศปูพรมสู่ตลาด AEC
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดหลักสูตรการศึกษา 3 หลักสูตร อันได้แก่ ระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลป-ศาสตรบัณฑิต สาขาธุรกิจการบิน หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการอุตสาหกรรมการบิน และระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการการบิน ที่ผลิตบุคลากรด้านการบริการผู้โดยสารส่วนต่างๆ และนักบริหารของสายการบิน ซึ่งสถาบันพัฒนาบุคลากรการบิน มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มีนโยบายเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานและด้านนักบิน ด้วยความร่วมมือของโรงเรียนการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อตอบสนองความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอย่างเป็นระบบและครบวงจร เนื่องด้วยปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินมีอัตราการเติบโตอย่างสูงมาก รวมถึงในระดับภูมิภาคและของประเทศไทยด้วย อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมด้านการขนส่งทางอากาศอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายพัฒนาประเทศในระยะยาว ส่งผลให้ขาดแคลนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินอย่างมากในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยเชื่อมั่นว่าหลักสูตรที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือนี้จะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ คุณสมบัติ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit