นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของโรคในปัจจุบันไม่รุนแรงเท่าปี 2559 และ 2560 ประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นจำนวนมากในขณะนี้ เป็นผลมาจากที่กรมปศุสัตว์มีการเร่งรัดสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อย่างจริงจัง เพื่อให้โรคสงบอย่างรวดเร็ว ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ให้เกิดโรคระบาด หากเกิดโรคต้องทำให้สงบอย่างรวดเร็ว ไม่ให้แพร่กระจายไปที่อื่น ซึ่งต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยประกาศเขตโรคระบาด รัศมี 5 กม. ให้มีการสำรวจสุนัข-แมวในรัศมี 5 กม. ให้ได้ 100% และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ 100% สั่งกักสัตว์ที่มีเจ้าของห้ามออกนอกบริเวณบ้าน ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หากพบสัตว์เป็นโรคหรือสัตว์สัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าเป็นโรค เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการทำลายสัตว์ทันที ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม – 12 มีนาคม 2561 มีจังหวัดประกาศพื้นที่เขตโรคระบาดชั่วคราว 37 จังหวัด และขณะนี้คงเหลือประกาศ 26 จังหวัด ซึ่งบางจังหวัดมีเพียง 1 จุด บางจังหวัดมีเพียง 2 - 3 จุด (1 จุดมีรัศมี 5 กม.) โดยที่จังหวัดที่มีประกาศ 1 จุด มีจำนวน 8 จังหวัด จังหวัดที่มีประกาศ 2 จุด มีจำนวน11 จังหวัด จังหวัดที่มีประกาศ 3 จุด มีจำนวน 3 จังหวัด และจังหวัดที่มีประกาศมากกว่า 3 จุด มีจำนวน 4 จังหวัด ซึ่งประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวมีอายุ 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศ โดยไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นอีก
ด้านนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงของประชาชน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตั้งงบประมาณ 311 ล้านบาท เป็นค่าวัคซีน พร้อมอุปกรณ์ และงบประมาณ 60 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการสำรวจสัตว์สุนัข-แมว ปีละ 2 ครั้ง ส่วนกรมปศุสัตว์จัดซื้อวัคซีน 1 ล้านโด๊ส เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมโรคในพื้นที่เกิดโรคและจุดเสี่ยง และที่สำคัญ ประชาชนหรือเจ้าของสัตว์เลี้ยง สามารถพาสุนัขและแมวไปที่สถานพยาบาลสัตว์ได้ ซึ่งทั้งประเทศมี 2,300 แห่ง และสามารถฉีดวัคซีนได้ 700,000 ตัว/ปี
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่พร้อมจะดำเนินการให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอยู่หลายจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามหลักคำนิยามจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE (Office International des Epizooties) โดยแบ่งเป็นจังหวัดสีเขียว หมายถึง จังหวัดที่ไม่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ไม่น้อยกว่า 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 21 จังหวัด จังหวัดสีเหลือง หมายถึง จังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเฉพาะในสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 42 จังหวัด และจังหวัดสีแดง หมายถึง จังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 14 จังหวัด ซึ่งอยู่ระหว่างที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์เร่งรัดกำจัดโรคอย่างเข้มข้นในขณะนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit