นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ในโครงการส่งเสริมศิลปะไทย และเป็นเจ้าของผลงานศิลปะของอาจารย์ช่วง มูลพินิจ ที่จัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ เผยถึงที่มาของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ว่า โดยส่วนตัวชื่นชอบผลงาน ของ อ.ช่วง มูลพินิจ อยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสจึงมีแนวคิดที่อยากจะจัดนิทรรศการนี้ ขึ้น เพื่อร่วมเชิดชูผลงานของอาจารย์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานเขียนลายเส้นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย ที่สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีและเป็นผู้นำเอาความงามของลายไทยผสมผสานเข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว โดยผลงานจะผนึกเรื่องราวทางอุดมคติกับธรรมชาติ ตลอดจนวัฏสงสารของชีวิตและปรัชญาเข้าไว้ด้วยกันอย่างงดงาม บางครั้งก็นำเรื่องราวจากศาสนาและวรรณคดีมาสร้างจินตนาการใหม่ ทำให้ผลงานศิลปะมีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งล้วน มาจากรากฐานความคิดที่ว่า "ธรรมชาติคือครูผู้ยิ่งใหญ่"
งานส่วนใหญ่ของ อ.ช่วง แสดงเรื่องราวของดอกไม้ แมลง สัตว์ มนุษย์ ทั้งในแง่อีโรติกจนกระทั่งการมองเห็นในวัฏสงสารของชีวิต ตัวอย่างผลงานช่วงปี พ.ศ 2504 ได้แก่ "งานไตรภูมิ" ที่เป็นงานในช่วงแรก โดยนำลายเส้นจากหมึกดำมาสร้างงานลงบนกระดาษ รวมไปถึงผลงาน "จิ้งจก" ในปี 2512 ซึ่งก็ใช้เทคนิคเดียวกันนี้
"สำหรับภาพผลงาน "จิ้งจก" นั้น เป็นผลงานลายเส้นที่ผมชื่นชอบมาก โดยเป็นงานชิ้นเล็กมากและเป็นชิ้นงานศิลปะที่เล็กที่สุดที่ผมสะสมในปัจจุบัน เป็นงานต้นฉบับของภาพชุด "วิจิตรกามา" ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีย์ใหญ่ซีรี่ย์หนึ่งของอาจารย์ช่วง อาจารย์เล่าว่า ภาพนี้เขียนจากสิ่งที่อาจาย์เห็นบนผนัง ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสัตว์โลก ผมคิดว่า บางทีมนุษย์เราก็พยายามบิดเบือนความจริงในภารกิจแห่งธรรมชาติที่สำคัญยิ่งนี้ คือ ภารกิจในการสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของเราสืบไป และบางครั้งก็บิดเบือนให้สิ่งนี้หลายเป็นเรื่องสกปรกและไม่ควรเอ่ยถึง" นายเสริมคุณ กล่าว
นายเสริมคุณ ยังกล่าวอีกว่า ผลงานของอ.ช่วง มูลพินิจ ที่จัดแสดงในครั้งนี้ เป็นผลงานสะสมของตัวเอง และบุตรสาว โดยผลงานที่เลือกสะสม จะเป็นผลงานที่ เกี่ยวข้องกับวัฏสงสารของชีวิต ปรัชญา ศาสนา และความรัก โดยเฉพาะภาพจิตรกรรม ที่ใช้เทคนิคสีน้ำและสีน้ำมัน แต่ยังคงเอกลักษณ์เรื่องลายเส้น ยกตัวอย่างผลงานภาพจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ " "ตัวไหมผสมพันธุ์" เป็นภาพเขียนแบบกราฟฟิค เพียงไม่กี่ชิ้นที่ อ.ช่วง สร้างขึ้นตลอดช่วงชีวิต เป็นภาพการผสมพันธุ์ของผีเสื้อ งานชิ้นนี้มีรอยฉีกขาดที่ด้านขวาของรูป เป็นร่อยรอยที่คุณจินดารัตน์ คู่ชีวิตของ อ.ช่วง ได้ฝากไว้บนผ้าใบ ผมเลือกที่จะเก็บร่องรอยนี้ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งชีวิตของทุกคนก็อาจต้องเคยประสบแบบนี้เช่นกัน ในมุมมองของผม การสะสมงานศิลปะไม่เป็นเพียงการสะสมเฟรมภาพ ผ้าใบและสีที่ติดอยู่บนผ้าใบ แต่เป็นการสะสมเรื่องราว ลมหายใจ อารมณ์ของศิลปินไปพร้อมกันด้วย
"นอกจากนี้ ยังมีผลงานของ อ.ที่ผมชื่นชอบ ที่ชื่อว่า "สุโขทัย" เป็นผลงานในปี 2519 เป็นความประทับใจแรกที่มีต่อภาพนี้เมื่อครั้งยังเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนโชติระวี ที่ปากน้ำโพ ซึ่งไม่ได้มีความคิดเลยว่าจะได้ครอบครองผลงานชิ้นนี้ ความสวยงามของลายเส้นเพียงไม่กี่เส้นแต่ทำให้เกิดความประทับใจ เมื่อถึงวันนี้ที่ได้มีโอกาสครอบครองผลงานชิ้นนี้เหมือนได้มีโอกาสครอบครองความทรงจำในอดีตไว้กับตัวผม" นายเสริมคุณ กล่าว
โดยนิทรรศการจะนำเสนอผลงานหลากหลายรูปแบบ เปิดให้ชมถึง 17 ชิ้น โดยผลงานทุกชิ้นที่นำมาแสดงจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ด้วยเทคนิคแตกต่างกันไป สะท้อนให้เห็นเส้นทางการทำงานของ อ.ช่วง มูลพินิจ ในแต่ละยุคสมัย อาทิเช่น ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ ชื่อ "เวลา" "ฤดูใบไม้ผลิ" "ตัวไหมผสมพันธุ์" "ทะเลเอามาฝาก 1" และ "ไตรภูมิ 1" เป็นต้น สำหรับนิทรรศการ "ช่วง มูลพินิจ ความรัก ธรรมะ ความงาม" ในผลงานสะสมของ เสริมคุณ คุณาวงศ์ จะจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 1 กรกฎาคม 2561 ณ ห้อง 407 ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ
สำหรับอาจารย์ ช่วง มูลพินิจ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานภาพเขียนลายเส้นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ยึดรากฐานความคิดที่ว่า "ธรรมชาติคือครูผู้ยิ่งใหญ่" เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานตลอดระยะเวลาราว 50 ปี ตลอดจนยึดคำสอนของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ครูผู้เป็นที่เคารพ ที่ชี้นำให้รู้จักและเข้าใจในงานศิลปะ ตลอดจนปลูกฝังความคิดว่า "ถ้ารักงานศิลปะ ต้องทำงาน..ทำงาน เงินไม่สำคัญ เงินมีความจำเป็น..แต่ไม่สำคัญ ทำงานมากๆ งานต่อไปก็จะรู้ว่ายังมีอะไรต้องแก้ไข ในงานต่อไป และต่อไป ... ศิลปะไม่จำเป็นต้องทำให้พิสดาร แหวกแนว ทำธรรมดา ถ้ามีศิลปะ คนก็ยอมรับในที่สุด"
ปัจจุบันมีผลงานชิ้นสำคัญมากมาย ทั้งยังมีความโดดเด่นด้านงานประติมากรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานพุทธศิลป์ที่มีชื่อเสียง อาทิ พระพุทธอภัยมงคลสมังคี ที่สมเด็จพระญาณสังวร รองสมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อพระราชทานแก่ทุกจังหวัดในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ทั้งยังมีผลงานประติมากรรม สิงโตคู่ ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ปัจจุบัน ติดตั้ง ณ วัดสิรินทรเทพรัตนาราม และถอดพิมพ์มาติดตั้งที่ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ซอยนวลจันทร์ 56