บก.ปอศ. ตรวจเข้มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หลังได้รับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จำนวนมาก

12 Mar 2018
บก.ปอศ.เผยได้รับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไปแล้ว จำนวน 38 ราย ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา
บก.ปอศ. ตรวจเข้มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หลังได้รับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จำนวนมาก

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้รับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจจากเจ้าของสิทธิ์ และจากช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ยังรวมไปถึงองค์กรธุรกิจหรือโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ในจังหวัดชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร นครราชสีมา และสมุทรปราการ เป็นต้นโดยเริ่มต้นปี 2561 จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการทางกฎหมายกับองค์กรธุรกิจที่ทำผิดไปแล้ว จำนวน 38 องค์กร พบว่ามีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายบนคอมพิวเตอร์ 690 เครื่อง มูลค่าการละเมิดมากกว่า 79 ล้านบาทซอฟต์แวร์ที่พบว่ามีการละเมิดฯ เช่น ออโต้เดสก์ ไมโครซอฟท์ มาสเตอร์แคม โซลิดเวิร์ค และไทยซอฟท์แวร์

จากรายงานของเจ้าหน้าที่ พบว่าองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต แม่พิมพ์โลหะ เฟอร์นิเจอร์ พลาสติก และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ รวมไปถึงธุรกิจก่อสร้าง และบริการด้านการออกแบบตกแต่ง ซึ่งมีการติดตั้ง ใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือไลเซ่นส์ (License) ในจำนวนองค์กรธุรกิจที่ถูกดำเนินคดี พบว่าบางรายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แต่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์ด้านการออกแบบเขียนแบบและอื่นๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ บนคอมพิวเตอร์มากกว่า 50 เครื่องในองค์กร

พ.ต.อ. วินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการ บก.ปอศ. เผยว่า เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ ผ่านการบังคับใช้กฎหมาย ไปพร้อมๆ กับการประชาสัมพันธ์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้งานซอฟต์แวร์ในสถานประกอบการ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เพราะหากใช้อย่างไม่ถูกต้องแล้ว เจ้าของสิทธิ์สามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายตามมา ที่สำคัญคือความเสียหายต่อชื่อเสียงองค์กร

ปัจจุบันจะเห็นว่าทางรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย เพราะปัญหาดังกล่าว สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของประเทศ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการทำการค้าและการลงทุนในประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล ป้องปราม และปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ไม่ให้มีการสนับสนุนสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งบก.ปอศ. ได้ทำงานด้านการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าต่างๆ รวมไปถึงสินค้าด้านเทคโนโลยี เช่น ซอฟต์แวร์ มาโดยตลอด ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้งานซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ทางบก.ปอศ. ขอความร่วมมือจากองค์กรธุรกิจและประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งความร่วมมือจากทุกฝ่ายจะช่วยให้สถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น