"การฝึกงาน" ถือเป็นหนึ่งในรายวิชาสำคัญของการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่มุ่งฝึกทักษะทางวิชาการ และสร้างประสบการณ์
การเรียนรู้แก่นักศึกษา ผ่าน
การทดลองปฏิบัติจริงด้วยตนเอง รวมถึงการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพื่อเป็นการ
ทบทวนความรู้ในห้องเรียน ควบคู่ไปกับการเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน เช่นเดียวกับนักศึกษาในหลักสูตร iSC หรือสาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ หลักสูตรนานาชาติ ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรแห่งเดียวที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับการจัดการและบริหารธุรกิจ เมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ที่พร้อมขับเคลื่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วย SCI+BUSINESS ที่นอกจากจะได้ฝึกประสบการณ์ไกลถึงต่างประเทศ ยังได้รับวัฒนธรรมการทำงานมาปรับใช้กับการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงไอเดียในการต่อยอดความฝันในอนาคต เมื่อเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่ประเทศไทย ดังนี้
- "สิ่งที่ได้กลับมาคือความแอคทีฟแบบทวีคูณ" - นายอัฐพล ทวีศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (วิชาเอกเคมีประยุกต์) เล่าว่า ด้วยความสนใจฝึกประสบการณ์ด้านบริหาร เพื่อนำไปต่อยอดกิจการครอบครัว จึงได้เลือกฝึกที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความขยัน จึงทำให้ตนได้รับความแอคทีฟในการใช้ชีวิตและการเรียนกลับมาแบบทวีคูณ เพราะส่วนงานที่ไปฝึกคือ "ด้านบริหาร" ในบริษัทสถาปนิกชั้นนำของสิงคโปร์ ที่จะมีหน้าที่หลักในการติดตามเจ้าหน้าที่ไปพบลูกค้า ณ สถานที่ต่างๆ ดังนั้น ในทุกๆ วันของการทำงาน จึงต้องมีสติและพร้อมเรียนรู้ทุกครั้ง เพราะต้องรวบรวมทุกความต้องการของลูกค้า นำเสนอต่อผู้ร่วมงาน รวมถึงประสานงานต่อกับฝ่ายสถาปนิก เพื่อให้สามารถออกแบบได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าอย่างแม่นยำ ทำให้ตนมีทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีความกระตือรือร้น และมีทักษะการนำเสนอและเจรจาต่อรอง ตลอดจนสามารถแก้ไขได้ในทันท่วงที ซึ่งทักษะเหล่านี้ สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจของครอบครัวอย่างโรงเรียนอนุบาล ได้หลากแง่มุมทั้งการบริหารจัดการ รวมถึงเตรียมการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- "เติมเต็มฝันด้วยการโคลนนิ่งไวรัส" - นายศุภเดช ศรีวัฒนาวานิช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (วิชาเอกเทคโนโลยีชีวภาพ)เล่าว่า ด้วยความสนใจศึกษาเรื่องแบคทีเรียและไวรัสตั้งแต่เด็ก ทำให้ตนเลือกศึกษาต่อในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ และต่อยอดความรู้ด้วยการฝึกประสบการณ์ต่างประเทศที่ John Innes Centre (JIC) สถาบันชั้นนำด้านเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ ประเทศอังกฤษ โดยมีโอกาสได้ฝึกทดลองโคลนนิ่ง ไวรัสซิก้า (Zika virus) ในห้องแล็บ ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูง พร้อมทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อไวรัสเมื่อฉีดเข้าใบยาสูบ ซึ่งพบว่าลักษณะของใบยาสูบมีความเหี่ยวเฉากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะฝึกประสบการณ์เป็นเวลากว่า 2 เดือน ทำให้ตนมีความตั้งใจพัฒนาวัคซีนจากแบคทีเรียยิ่งขึ้น ตลอดจนตั้งใจสอบชิงทุนในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ (Medical School) เพื่อเติมเต็มความรู้ด้านวัคซีนสำหรับใช้รักษาโรคทางการแพทย์ ระดับปริญญาโทภายหลังจบการศึกษา เนื่องจากในทุกการทดสอบเชื้อไวรัสที่สถาบันฯ ดังกล่าว จะทำการทดสอบในพืชแทนสัตว์ทดลอง เพื่อลดความสูญเสียของสิ่งมีชีวิตและลดความเสี่ยงของการแพร่ไวรัสสู่คน
- "ต่อยอดความรู้สู่เมนูอาหารในฝัน" - นางสาวกนกวรรณ ภาคพิทักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (วิชาเอกเคมี) เล่าว่าจากการศึกษาในหลักสูตร iSC วิชาเอกเคมี ซึ่งมีรายวิชาเกี่ยวกับชีววิทยาและจุลชีววิทยา ทำให้ตนสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร จึงเลือกฝึกงานที่มหาวิทยาลัย NODAI ประเทศญี่ปุ่น สถาบันที่มีชื่อเสียงเรื่องการเกษตรและมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานจริงในโรงงานทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น ที่มีระเบียบและอดทนแม้ทำงานล่วงเวลา อย่างไรก็ตาม ก่อนเดินทางไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น ตนได้ฝึกงานที่บริษัทอาหารของญี่ปุ่น ในประเทศไทย ที่มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนพนักงาน จึงมีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริงหลายรูปแบบ ตั้งแต่ศึกษาไลน์การผลิต การตรวจหาโลหะหนัก การทดสอบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งทำให้ตนมีทักษะความรู้ด้านมาตรฐานอาหารปลอดภัย และแพ็คเกจจิ้งที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนมีทักษะการเจรจาต่อรอง และมีคอนเนคชั่น (Connection) กับบริษัทผู้ผลิต ทั้งนี้ ภายหลังจากจบการศึกษา ตั้งใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาการพัฒนาแพ็คเกจจิ้งยังต่างประเทศ เพื่อเติมเต็มความรู้ด้านมาตรฐานอาหารและแพ็คเกจจิ้ง รวมถึงด้านบริหาร เพื่อให้พร้อมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในฝันของตนเองในอนาคต
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม และมีทักษะด้านบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านการฝึกประสบการณ์ ณ หน่วยงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้เสมือนจริงแก่บัณฑิตให้พร้อมก้าวสู่โลกการทำงานจริง พร้อมทั้งมีคอนเนคชั่นด้านการทำงานมาต่อยอด สู่การผสมผสานทุกองค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจหรือนวัตกรรม อันเอื้อประโยชน์ต่อสังคมในหลากแง่มุมและเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้ในอนาคต
สำหรับน้องๆ ที่สนใจต่อยอดธุรกิจและเสริมสร้างประสบการณ์ในต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และบริหารธุรกิจ (SCI+BUSINESS) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 085-903-0440 (คุณการ์ตูน) และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/isci.TU