รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเบื้องหลังของความสำเร็จนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้ความสามารถของนิสิตอย่างรอบด้าน เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานจริงเมื่อก้าวสู่โลกธุรกิจ โดยทางคณะฯ มีการดำเนินงานอย่างเป็นกลยุทธ์ ทั้งในด้านการพัฒนาหลักสูตร และการเตรียมความพร้อมนิสิตสำหรับการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจ
"เรามองว่าการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจ เป็นอีกแนวทางในการพัฒนาเด็กให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ซึ่งระยะหลังการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้รูปแบบการแข่งขันยากขึ้น เราจึงปรับกลยุทธ์ใหม่ จัดให้มีการเทรนนิ่งอย่างเป็นระบบ อีกทั้งทางคณะฯ ได้ซื้อลิขสิทธิ์การใช้กรณีศึกษาที่เป็นฐานข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นำมาให้นักศึกษาได้ใช้ในการทดลองแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งมีหลายเคสที่น่าสนใจ และมีการอัพเดทตลอดเวลา"
นอกจากการทดลองแก้ไขโจทย์ปัญหาทางธุรกิจระดับโลกแล้ว BBA ยังปรับปรุงเคสคลับ ซึ่งก่อตั้งมาพร้อมกับหลักสูตร BBA ให้เข้มข้นขึ้น มีการทำเทรนนิ่งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำเพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการแข่งขัน
"นิสิตของคณะทุกคนสามารถที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใน Case Club หลังผ่านการคัดเลือก ซึ่งคณะจะจัดให้มีการฝึกอย่างเข้มข้นทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยอาจารย์จากทุกภาควิชามาช่วยกัน โดยเราจะให้โจทย์เด็กไปทดลองทำ ส่วนเด็กกลุ่มที่มีตารางต้องไปแข่งขันที่ไหน เราก็จะจัดอาจารย์ทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้กับทีม รวมทั้งจัดการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เด็กที่เข้ามาเป็นสมาชิกใน Case Club จะอยู่ในช่วงการศึกษาปี 2-4 โดยในช่วงแรกๆ จะให้ลองสนามด้วยการเข้าแข่งขันบนเวทีที่ทางเราเป็นผู้จัดขึ้นก่อน เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น มีทักษะมากขึ้นก็จะขยับไปแข่งขันในเวทีระดับสากลมากขึ้น"
รศ.ดร.พสุ กล่าวว่า Case Club เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการสร้างเด็กให้มีความพร้อมในเรื่องของซอฟท์สกิล ซึ่งตอบโจทย์ภาคธุรกิจในปัจจุบัน เมื่อนำมาเสริมกับความเข้มแข็งในเรื่องวิชาการที่ Chulalongkorn Business School มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ จึงทำให้ชื่อเสียงของ BBA เป็นที่กล่าวถึงบนเวทีโลกมากขึ้นอีก
อ.ดร.ทิม นพรัมภา รองประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA International Program) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับทีมแข่งขันรายการ John Molson Undergraduate Case Competition 2018 (JMUCC) เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา กล่าวว่าการแข่งขันบนเวทีระดับนานาชาติ มีความหมายมากกับการพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ เพราะนอกจากประสบการณ์ที่เด็กจะได้รับแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรชั้นนำของโลก
"อย่างการแข่งขันที่มอนทรีออลในครั้งนี้ เป็นโจทย์ของวอลมาร์ทที่กำลังประสบปัญหาผู้บริโภคยุคใหม่ไม่ค่อยเข้าร้าน แต่หันไปนิยมซื้อของบนออนไลน์มากขึ้น ผู้บริหารที่มาฟังการนำเสนอของนิสิตในวันนั้นคือรองประธานบริหาร ซึ่งเป็นเบอร์ 2 ของวอลมาร์ท"
"ทุกครั้งที่เด็กไปร่วมการแข่งขันไม่ว่าจะชนะ หรือแพ้กลับมา สิ่งที่เรามองมาตลอดก็คือเด็กได้ประสบการณ์จากการไปแข่ง เพราะเขาต้องไปพรีเซนต์ต่อหน้าคนที่เป็นซีอีโอ และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก และการที่เข้าไปแข่งขัน จะต้องมีการเตรียมตัว และฟอร์มทีมก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ทักษะนี้เมื่อเด็กจบออกไป ก็สามารถนำไปใช้กับการทำงานจริง คือเป็นการปูพื้นฐานที่ดีสำหรับการทำงานในอนาคตของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เด็กพวกนี้มักจะได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมงานกับบริษัทใหญ่ๆ ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ"
ทางด้าน อ.ดร.นัท กุลวานิช กรรมการและเลขานุการหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (BBA International Program) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานำทีมการแข่งขันไปคว้ารางวัลชนะเลิศในรายการ Heavener International Case Competition 2018 (HICC) มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าชัยชนะในระดับสากล ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องได้รับเทียบเชิญจากผู้จัดที่เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะดูชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ดังนั้นชัยชนะที่ได้รับ จึงไม่ใช่แค่ของคณะฯ หรือของจุฬาฯ เท่านั้นแต่เป็นของประเทศชาติของเรา
"ในระดับสากลมีการแข่งขันกรณีศึกษาทางธุรกิจเยอะมาก แต่รายการใหญ่ๆ มีประมาณ 10 กว่ารายการ ซึ่งเขาจะเชิญมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับท็อปทรีของประเทศจากทั่วโลกมาร่วมแข่งขัน เราไปในนามของของประเทศไทย"
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการส่งเสริมนิสิตให้เข้าร่วมแข่งขันบนเวทีโลกที่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงของ Chulalongkorn Business School โด่งดังเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกแล้ว การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับภาคธุรกิจก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยปัจจุบันทางคณะฯ ได้จัดให้นิสิตมีชั่วโมงเรียนกับผู้บริหารองค์กรชั้นนำเป็นเวลา 1 เทอมเต็ม โดยจะมีผู้บริหารองค์กรชั้นนำในหลากหลายธุรกิจมาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันสอนทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีแผนจะเพิ่มสาขาวิชาที่มีการเชื่อมโยงทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นิสิตมีความรู้รอบด้าน และสามารถเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในโลกธุรกิจ และนี่คือกลยุทธ์ที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของ BBA ที่ทั่วโลกกล่าวถึง และเป็นความภูมิใจของคนไทยทุกคนในเวลานี้
HTML::image( HTML::image( HTML::image(