ACMF ยินดีกับความก้าวหน้าของอาเซียนกรีนบอนด์

29 Mar 2018
หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) ยินดีกับความก้าวหน้าของอาเซียนกรีนบอนด์ ที่มีผู้ออกแล้ว 3 โครงการจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย พร้อมปฏิบัติตามกรอบความร่วมมือในการเคลื่อนย้ายบุคคลากรในตลาดทุน มุ่งเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนให้แข็งแกร่ง

ในการประชุม ACMF เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่าการออกอาเซียนกรีนบอนด์ (ASEAN Green Bond) มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนนับตั้งแต่เริ่มประกาศใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยปัจจุบันมีการออกอาเซียนกรีนบอนด์แล้วจำนวน 3 โครงการ จากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งกรณีของอินโดนีเซียเป็นการออกศุกูกภาครัฐภายใต้มาตรฐานอาเซียนกรีนบอนด์เป็นรายแรกในภูมิภาค

ความก้าวหน้าของอาเซียนกรีนบอนด์แสดงให้เห็นว่า ตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยหน่วยงานกำกับดูแลมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำกับผู้ออกกรีนบอนด์ และทำให้มีมาตรฐานการออกกรีนบอนด์ที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ACMF ยังได้รับรองกรอบความร่วมมือในการเคลื่อนย้ายบุคลากรในตลาดทุน เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานข้ามพรมแดนของผู้แนะนำการลงทุนและการเผยแพร่บทวิเคราะห์การลงทุน โดยที่ประชุมจะประกาศใช้กรอบความร่วมมืออย่างเป็นทางการในครึ่งปีหลังของปี 2561 และตกลงที่จะผลักดันและสนับสนุนการเสนอขายกองทุนรวมอาเซียนข้ามพรมแดน (ASEAN collective investment schemes: ASEAN CIS) อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังตกลงให้มีการขยายขอบเขตมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้อาเซียนให้ครอบคลุมถึงการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทั่วไปแบบโครงการด้วย

หมายเหตุ:

1. หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) เป็นการรวมกลุ่มกันของหน่วยงานกำกับดูแลในภูมิภาค ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

2. อาเซียนกรีนบอนด์ (ASEAN Green Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยการปฏิบัติตามเกณฑ์กลางมาตรฐานของอาเซียนเกี่ยวกับการออกกรีนบอนด์ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

3. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2015 เป็นก้าวสำคัญในแผนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 622ล้านคน ในปี ค.ศ. 2014 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชียและอันดับ 7 ของโลก

4. ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ACMF และโครงการต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.theacmf.org