คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ผ่านมาเมื่อนึกถึงคำว่า "ผู้นำ (Leader)" ผู้คนมักจะนึกถึงวีรบุรุษหรือผู้ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม อันเป็นความหวังในการนำพาสังคมไปสู่ความเจริญ เป็นผู้แก้ไขปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็นมุมมองแบบกระบวนทัศน์เดิม ที่ผู้นำจะมีบทบาทในการนำเดี่ยวหรือนำแบบวีรบุรุษ (Heroic Leadership) แต่การนำแบบที่ผ่านมาอาจไม่เหมาะกับการนำในสภาวะปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าหลายครั้งการพึ่งพาการนำของผู้นำเพียงคนเดียว อาจทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด จนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในวงกว้างได้
"โครงการผู้นำแห่งอนาคต" คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีแนวคิดว่าหากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่สังคมในระยะยาว ควรที่จะพัฒนาบ่มเพาะ "พลเมืองรุ่นใหม่ (Young Active Citizen)" ให้เป็น "ผู้นำร่วม (Collective Leadership)" หรือ ผู้นำที่ใช้ปัญญาร่วมจากสังคม รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาทางแก้ไขและพัฒนาร่วมกัน โดยได้จัด "เวทีบ่มเพาะภาวะการนำร่วมสำหรับพลเมืองรุ่นใหม่ (Collective Leadership for Young Active Citizen)" ขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 16 – 18 มีนาคม ที่ผ่านมา รวมจำนวนพลเมืองรุ่นใหม่ที่ผ่านการบ่มเพาะมากถึงกว่า 100 คน
ในการจัดครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก "คุณธนัญธร เปรมใจชื่น" กระบวนกรจากบริษัทบริษัทเซเว่น เพรสเซนส์ (Sevenpresents) และทีมมาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม คุณธนัญธรได้อธิบายแนวคิดในการบ่มเพาะพลเมืองรุ่นใหม่ร่วมกับโครงการฯ ว่า "การจัดกิจกรรมเน้นให้คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคต ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องด้านในของตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับผู้คนในการทำงานร่วม เพราะในวันข้างหน้าเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะได้ไม่พลาดที่จะได้ยินเสียงของตัวเองและผู้อื่น และไม่พลาดโอกาสที่จะได้รับรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยการก้าวมาเป็น 'ผู้นำร่วม' ไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนจะต้องมีตำแหน่ง แต่หมายถึงการมี 'สำนึกร่วม' ที่จะรู้สึกว่านี่คือองค์กรของฉัน นี่คือบ้านของฉัน นี่คือประเทศของฉัน และฉันจะดูแลทั้งหมด คนทุกคนเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบและแบ่งเบาซึ่งกันและกัน"
โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ดำเนินควบคู่กันไปสองส่วน ส่วนแรก คือ "การสร้างความตระหนักถึงตัวเอง ทั้งตัวตน ความคิด และความรู้สึก" ผ่านกิจกรรมที่ทำให้แต่ละคนได้ย้อนมองตัวเองว่า 'ความปรารถนาสูงสุดที่เราไขว่คว้าอยู่คืออะไร' ความรัก ความสำเร็จ หรือมิตรภาพ 'การค้นหาแรงขับเคลื่อนในการดำเนินชีวิต' ว่าเป็นไปในทิศทางใด เช่น การมุ่งสู่ความสำเร็จ การมองหาความมั่นคง การมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนชีวิต หรือการขับเคลื่อนด้วยความรัก ซึ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมบางอย่างแตกต่างกันไปตามลักษณะของสัตว์ 4 ทิศ ไปจนถึง 'การเรียนรู้และยอมรับเสียงภายในจิตใจของตนเองอย่างลึกซึ้ง (Voice Dialogue)' เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจความเป็นตัวเอง ยอมรับและเยียวยาบาดแผลด้านในจิตใจ พร้อมที่จะก้าวข้ามจากพื้นที่ปลอดภัยเดิม รับฟัง เรียนรู้ และทำความเข้าใจผู้อื่นโดยไม่ปิดกั้น ตัดสินผู้อื่นน้อยลงและเคารพผู้อื่นมากขึ้น
อีกส่วนหนึ่งที่ควบคู่กันไป คือ "การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นรวมไปถึงการทำงานร่วม" ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ท้าทายให้สัมผัสกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเอง อย่างการ 'รับฟังและถ่ายทอดเรื่องราวของกันและกัน ในรูปแบบสุนทรียสนทนา (Dialogue)' โดยการฟังอย่างลึกซึ้ง ห้อยแขวนการตัดสิน หันมาเคารพซึ่งกันและกัน และเผยเสียงอันจริงแท้ไม่บิดเบือน 'การทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยการบริหารการทำงานร่วมกัน' เพื่อให้เห็นบทบาทในการทำงานเป็นทีมของตัวเองและผู้อื่น การบริหารการทำงานร่วมกัน ความสำเร็จและความผิดพลาดของการทำงานร่วมที่เกิดขึ้น ส่วนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ กิจกรรมเพื่อเรียนรู้ 'การให้โอกาสแก่ความผิดพลาด' ให้โอกาสตัวเองและผู้อื่นในการที่จะแก้ไข ขัดเกลา ให้การทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในกระบวนการเรียนรู้คุณธนัญธรได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า "น็อตทุกตัวสำคัญต่อการขับเคลื่อน ทุกก้าวที่เราคืบขยายเกิดจากการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้คุณจะเป็นความงดงามที่ผู้อื่นอยากเดินร่วมไปกับคุณ"
โดย "คุณวริษฐา ขอประเสริฐ" Visual note taker ได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อตัวเองในครั้งนี้ว่า "เมื่อก่อนไม่ค่อยอยากยอมรับตัวตนบางอย่างของตัวเอง เช่น ตัวตนที่เราเคยวางใจโลก ตัวตนที่อ่อนโยน เพราะกลัวถูกเอาเปรียบหรือดูอ่อนแอเกินไปเวลาอยู่กับโลกข้างนอก แต่การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้เรายอมรับตัวตนที่เกือบหลงลืมไปแล้วได้มากขึ้น เพราะเขาก็มีข้อดีที่ทำให้เราเป็นเรา"
"คุณศรุต ศีลแจ่มใส" วิศวกรอาวุโส จากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สะท้อนว่า "ปกติเราจะเป็นคนบ้างานมาก มีเป้าหมายชัดเจน ทำงานแล้วก็พุ่งไปอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าคนรอบข้างจะรู้สึกอย่างไร พอเข้าร่วมกิจกรรมแล้วทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น สิ่งที่จะไปปรับคงเป็นการลดอีโก้ของตัวเองลง เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ถามความเห็นและความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น"
และ "คุณสุรเชษฐ์ ตรรกโชติ" Project Manager จากองค์กรด้านธุรกิจเพื่อสังคม EdWINGS ได้สะท้อนมุมมองต่อการนำร่วมที่เห็นชัดขึ้นจากเวทีนี้ว่า "การเป็นผู้นำร่วม เป็นวิถีของสังคมไหนก็ตามที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าและพร้อมจะเผชิญหน้ากับความโกลาหลในการก้าวไป อาจไม่ใช่การก้าวที่เร็วที่สุด สงบที่สุด แต่ยุติธรรมที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด"
ก่อนการแยกย้ายกลับสู่วิถีชีวิตของตนพร้อมดวงตาดวงใหม่ หรือดวงตาที่มองเห็นถึงมุมมองใหม่ต่อบริบทเดิม คุณธนัญธรได้ย้ำเสริมพลังให้แก่ทุกคนว่า "ทุกคนคือพลเมืองรุ่นใหม่ซึ่งพร้อมจะก้าวมาเป็นผู้นำร่วมที่นำพาความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคม" ติดตามองค์ความรู้ของกิจกรรมได้ที่ Facebook : โครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit