สสส. ผนึกเครือข่าย เปลี่ยนพื้นที่ 'เสี่ยง' เป็นพื้นที่ 'สุข' เน้นใช้ 'ศิลปะ'

26 Mar 2018
สร้างความสุข คืนจิตวิญญาณและคุณค่าให้ชุมชน เดินหน้าขยายพื้นที่สร้างสรรค์ 35 จังหวัดทั่วประเทศ หวังปั้นเยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะกว่า 2,000 คน
สสส. ผนึกเครือข่าย เปลี่ยนพื้นที่ 'เสี่ยง' เป็นพื้นที่ 'สุข' เน้นใช้ 'ศิลปะ'

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กลุ่มดินสอสี เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) เดินหน้าต่อยอดยุทธศาสตร์ 3ดี สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี มาเป็นตัวชูโรงเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุข สร้างเยาวชนนักสื่อสาร ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะนำคุณค่าและจิตวิญญาณของชุมชนให้กลับมาขยายพื้นที่ครอบคลุม 35 จังหวัดทั่วประเทศ ปั้นเยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะกว่า 2,000 คน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า "ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนในสังคมเริ่มเกิดภาวะ 'ไร้สุข' หลายคนเริ่มรู้สึกว่าสังคม 'อยู่ยาก' ขึ้นทุกวัน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสื่อและเทคโนโลยีที่ดูเหมือนยิ่งก้าวไกลไปเท่าไร กลุ่มคนรุ่นใหม่กลับยิ่งรู้สึกแปลกแยกกับตัวเองและสังคมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เด็กและเยาวชนหลายคนแม้จะมีความสุขทางกาย แต่ลึกๆ ในใจกลับรู้สึกว่างเปล่า หาตัวตนหรือคุณค่าของตัวเองไม่เจอ"

"สสส. ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะ ทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อวิถีชีวิตสุขภาวะ คนไม่อาจมีความสุขได้ในสภาพพื้นที่สังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเสี่ยง แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. โดยการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน อาทิ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กลุ่มดินสอสี เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) จึงจับมือเดินหน้าใช้ ยุทธศาสตร์ 3ดี สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี มาเป็นตัวชูโรงเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข สร้างเยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะนำคุณค่าและจิตวิญญาณของชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

โครงการ 'รองเมืองเรืองยิ้ม' และ 'คลองเตยดีจัง' คือตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนแออัด ที่เมื่อเอ่ยชื่อก็นึกถึงสภาพชุมชนเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยงานศิลปะของเด็กและเยาวชน

เชษฐา มั่นคง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) หนึ่งในภาคีเครือข่ายแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า "รองเมืองเรืองยิ้มเป็นการดำเนินงานที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสุขภาวะใน 4 ชุมชนย่านรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. เราสร้างกระบวนการให้เด็กและเยาวชนในชุมชนออกค้นหาเรื่องราวในวิถีชีวิต อาหาร ภูมิปัญญาเก่าแก่ของชุมชน แล้วนำมาพัฒนาเป็นสื่อสร้างสรรค์ ตกผลึกเป็นความรู้ เกิดเป็นความรัก เห็นคุณค่าชุมชนของตัวเอง" "วันนี้หากใครเดินเข้าไปในชุมชนรอบรองเมือง ก็จะเห็นพื้นที่งานศิลปะอยู่บนกำแพงในเกือบทุกตรอกซอกซอย มีงานศิลปะจากขวดน้ำที่สร้างสรรค์จากอาชีพเก็บขยะของคนในชุมชน ภาพวาดบนกำแพงแสดงเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มาจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภายนอกที่เห็นคุณค่าของโครงการและเข้ามาทำงานพัฒนาร่วมกัน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยเพาะช่าง ฯลฯ" เชษฐา กล่าวเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับพื้นที่ชุมชนคลองเตย ที่วันนี้ได้ใช้ศิลปะเปลี่ยนชุมชนโรงหมูเก่าร้างด้วยงานศิลปะจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เริ่มต้นจากการทำงานในนามเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังของกลุ่มอาสาสมัครครูดนตรี MUSIC SHARING ที่นำดนตรีและศิลปะมาทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนในชุมชนอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ทำให้พื้นที่เสี่ยงอย่างคลองเตยกลายเป็นพื้นที่เปิด เกิดเป็นความร่วมมือจากคนในพื้นที่ ชุมชนอาสาสมัครและองค์กรภายนอก ที่เข้ามาช่วยกันเปลี่ยนคลองเตยชุมชนแออัดให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยเปิดเป็นงานเทศกาลให้บุคคลภายนอกได้ชมกันในเทศกาล Soul of Klongtoey 'คลองเตยดีจัง' เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ด้าน ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าว "ศิลปะจะทำให้คนรู้สึกผูกพันกับชุมชน การพัฒนาชุมชนจะไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำชุมชนเท่านั้น แต่จะเป็นใครก็ได้ สถาปนิก ศิลปิน พ่อค้าแม่ค้า คนในชุมชนทุกคนที่มาร่วมแรงร่วมใจกันจะทำให้เกิดความรู้สึกเห็นคุณค่า เราเรียกพื้นที่นี้ว่าพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่แห่งความสุข พื้นที่ทางปัญญา ซึ่งมันจะเชื่อมโยงนำไปสู่การพัฒนาเรื่องอื่น ๆ ทั้งสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจต่อไปในอนาคตได้"

การดำเนินงานสร้าง 'พื้นที่สร้างสรรค์' โดยแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ขยายเติบโตไปกว่า 35 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างเด็กและเยาวชนที่เป็นนักสื่อสารสุขภาวะในแต่ละชุมชนมากกว่า 2,000 คน หลายๆ พื้นที่สร้างสรรค์ขยายจากชุมชนกว้างไปสู่ระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น เพชรบุรี อุตรดิตถ์ พัทลุง ศรีสะเกษ และล่าสุดที่จังหวัดนครราชสีมา เด็ก เยาวชน และชุมชนจับมือกันจัดมหกรรมเทศกาลงานยิ้มโคราช 2018 ตอน ยิ้มทั้งเดิ่น เปลี่ยนลานย่าโมให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะและวิถีชุมชน

"สิ่งที่สำคัญในการทำเรื่องนี้คือต้องให้เด็กและเยาวชนเป็นคนเดินเรื่อง ให้เขาออกมานำหน้า มันจะเกิดความสำเร็จที่แตกต่างจากในอดีตที่ผู้ใหญ่เป็นคนทำหรือบอกให้เด็กทำ ทั่วโลกมีการพิสูจน์ที่ตรงกันว่าเมื่อเราเปลี่ยนพื้นที่ มันจะเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนวิถีชุมชน นำสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ นี่คือแนวคิดของพื้นที่สร้างสุขภาวะ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่ สสส. และเครือข่ายองค์กรสุขภาพอื่นๆ กำลังเดินหน้าสร้างสรรค์ร่วมกัน มันเป็นเรื่องหนึ่งของสุขภาพด้วย คือสุขภาพของสังคมที่อยู่ร่วมกัน เพราะสุดท้ายแล้วเราทุกคนไม่สามารถที่จะมีชีวิตที่มีความสุขในสังคมที่ไร้ความสุขได้แน่นอน" เข็มพร กล่าวสรุป

ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaihealth.or.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(