สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯและเครือข่ายวัคซีนจับมือกับบริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีน HPV

26 Mar 2018
ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ Mr.Steven Gao ผู้จัดการทั่วไป บริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด ประเทศจีนได้ลงนามลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนมะเร็งปากมดลูกชนิดสองและเก้าสายพันธุ์ (Bivalent HPV vaccine 16&18 และ Nonavalent 6/11/16/18/31/33/45/52/58) ของบริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด ให้แก่ผู้ผลิตวัคซีนในประเทศไทย สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานคณะกรรมการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ Mr.Zixin Qiu ประธานกรรมการบริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีน HPV และลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกลงอย่างมีประสิทธิภาพ
สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯและเครือข่ายวัคซีนจับมือกับบริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีน HPV

ดร.นพ.จรุง กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งเป็นโรคที่สาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นของประชากรในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกมีอุบัติการณ์มากเป็นอันดับสองในประชากรเพศหญิง โดยมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 10,000 ราย และเสียชีวิต 14 รายต่อวัน ทั้งนี้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ได้มีการวิจัยพัฒนาและผลิตมามากกว่า 10 ปี โดยผู้ผลิตจากบริษัทในสหรัฐอเมริกาหนึ่งรายและยุโรปหนึ่งรายเท่านั้น ซึ่งบริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด จะเป็นรายที่ 3 ที่ผลิตวัคซีนมะเร็งปากมดลูกออกสู่ตลาดโลก วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้มีการพิสูจน์แล้วว่า มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้กว่าร้อยละ 70 ปัจจุบันวัคซีนที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีราคาสูงมาก ความร่วมมือของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด ถือเป็นก้าวแรกที่จะช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ในราคาถูกลง ซึ่งจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของการเข้าถึงวัคซีนและลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบริษัท Xiamen Innovax Biotech จำกัด จะดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 9 สายพันธุ์ แก่โรงงานผลิตวัคซีนในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตและการพัฒนาวัคซีนในระยะยาวของประเทศต่อไป"สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากความร่วมมือในครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตวัคซีน HPV ซึ่งจะทำให้ประเทศมีวัคซีนไว้ใช้อย่างเพียงพอและมีราคาถูก และสามารถนำวัคซีนไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายอื่นนอกจากในเด็กชั้นป.5 และยังสามารถพัฒนาส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย เนื่องจากวัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่มีความต้องการทั่วโลก แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตเพียง 2 รายเท่านั้น โดยส่วนของเราถือเป็นรายที่ 3 ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ผลิตเป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลิตวัคซีนได้จำนวนมากกว่าเดิม เป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกันกับการผลิตวัคซีนป้องกันตับอักเสบบี สำหรับการผลิตในช่วงต้นจะเป็นลักษณะของการผลิตในช่วงปลายน้ำก่อน โดยจะผลิต แบ่งบรรจุ ด้วยกระบวนการผลิตที่มีความพร้อม ซึ่งจะใช้เวลาในการผลิตเฉลี่ย 6-8 ปี ทั้งนี้ในปัจจุบันวัคซีน HPV ที่มีจำหน่ายอยู่เป็นแบบ 2 สายพันธุ์ ซึ่งครอบคลุมไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณ ร้อยละ 70 ซึ่งถ้าเพิ่มความครอบคลุมได้อีก 5 สายพันธุ์ จะครอบคลุมได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายจะผลิตวัคซีน HPV ให้ครอบคลุมได้ถึง 9 สายพันธุ์ โดยในช่วงเริ่มต้นจะเป็นการผลิตให้ครอบคลุม 2 สายพันธุ์ให้ได้ก่อน" ดร.นพ.จรุง กล่าวทิ้งท้าย