สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 19-23 มี.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 26-30 มี.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

26 Mar 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 64.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 64.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 79.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • การประชุมคณะกรรมาธิการกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC (Joint OPEC/Non-OPEC Technical Committee) ประกอบด้วยตัวแทนจากซาอุดีอาระเบีย เวเนซุเอลา แอลจีเรีย รัสเซีย และโอมาน เผยอัตราความร่วมมือในลดปริมาณการผลิตในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 138% ระดับสูงสุดตั้งแต่เริ่มมาตรการลดปริมาณการผลิตตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2560 อีกทั้งปริมาณสำรองน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) อยู่เหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี เพียงแค่ 44 ล้านบาร์เรล Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 428.3 ล้านบาร์เรล
  • ทางการเวเนซุเอลารายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ก.พ. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 183,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าปริมาณการผลิตในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2559 ที่ 2.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 2.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ
  • Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 20 มี.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 34,574 สัญญา มาอยู่ที่ 488,438สัญญา เพิ่มขึ้นหลังจากลดลงต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ Intercontinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 20 มี.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 26,716 สัญญา มาอยู่ที่ 567,094 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • วันที่ 22 มี.ค. 61 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump ลงนาม "คำสั่งประธานาธิบดี" (Executive Order) เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ในวงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลจีนกำลังจะพิจารณาแผนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% มาอยู่ที่ 1.50 -1.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ FED ยังคงคาดการณ์เดิมว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 2 ครั้ง (รวมทั้งหมด 3 ครั้งในปีนี้)
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 804 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 สูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 58

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิดและราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดตลาดวันศุกร์แตะระดับเหนือ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 61 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากข่าวรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid Al-Falih กล่าวว่ามีโอกาสที่กลุ่ม OPEC และ Non-OPEC จะร่วมกันลดอุปทานน้ำมันต่อไปจนกระทั่งปี พ.ศ. 2562 จากเดิมจะลดกำลังการผลิตที่ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงเดือน ธ.ค. 61 โดยจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศผู้ผลิตน้ำมันกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วันที่ 22 มิ.ย. 61 ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านเพิ่มขึ้น หลังรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย นาย Adel bin Ahmed Al-Jubeirกล่าวว่าอิหร่านเป็นประเทศที่สนับสนุนผู้ก่อการร้าย ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านตอบโต้ว่าเป็นคำกล่าวหาที่ไร้เหตุผล และเป็นผู้สนับสนุนหลักในการก่อการร้ายและสร้างความไม่มั่นคงภายในภูมิภาคตะวันออกกลาง คือ ซาอุดิอาระเบีย ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ. 61 อิหร่านผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 804 แท่น ให้จับตาโอกาสเกิดสงครามการค้า หลังกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่าจะตอบโต้การกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ ไม่ทบทวนการกีดกันการค้ากับจีน ทั้งนี้หลังจากจีนประกาศจะกีดกันการค้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าของเนื้อหมูและถั่วเหลืองลดลง ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.5-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 63.0-67.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.5-66.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย และ Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของศรีลังกา ประกอบกับกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน ก.พ. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 12.6% มาอยู่ที่ระดับ 7.4 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 16 มี.ค. 61 ลดลงสัปดาห์ก่อน 1.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 243.1 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 280,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.59 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัท Sinopec รายงานโรงกลั่นน้ำมัน Hainan มีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 170,000 บาร์เรล อยู่ที่ 510,000 บาร์เรล และ บริษัท Byco Petroleum ของปากีสถานรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว มาอยู่ที่ 12,800 บาร์เรลต่อวัน หลังหน่วย Catalytic Reformer (กำลังการกลั่น 24,000 บาร์เรลต่อวัน) เริ่มดำเนินการ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77.5-81.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของบริษัท Petrolimex และบริษัท Saigon Petro ของเวียดนาม และ Ceypetco ของศรีลังกา ประกอบกับบริษัท Cosmo Oil ของญี่ปุ่นจะหยุดดำเนินการหน่วย Crude Distillation Unit (CDU) No.5 (กำลังการกลั่น 90,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Yokkaichi (กำลังการกลั่น112,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 31 มี.ค. 61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 16 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล อยู่ที่ 131 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามบริษัท PetroChina ของจีนเผยแผนส่งออกน้ำมันดีเซลจากโรงกลั่น Liaoyang (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 298,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 745,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นน้ำมันดีเซลปริมาณกำมะถัน 0.001%S มาตรฐานNational Phase 5 ของจีน (เทียบเท่า Euro 5) ส่งออกไปสิงคโปร์หรือฮ่องกง ด้าน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.65 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.61 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 78.0-82.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล