"จากการศึกษาวิจัยในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า หัวใจสำคัญของการมุ่งเน้นที่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้าย จำเป็นต้องอาศัย 3 เรื่องคือ 1) การดูแลแบบประคับประคอง 2) การส่งเสริมบทบาทเชิงรุกของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นบริบทที่สำคัญมากในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของประเทศไทย และ 3) การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ภายใต้หลักการของการจัดการดูแลแบบบูรณาการ การสร้างสรรค์กลไกการดูแลร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายไม่มีสูตรสำเร็จ ตลอดจนการมองโครงสร้างความสัมพันธ์ของการจัดการดูแลที่เป็นความสัมพันธ์ของคนในบ้านและครอบครัว เพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะท้ายของชีวิตให้ดีที่สุด" รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว
ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัย สวรส. กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ในยุค Thailand 4.0 ยุคที่โลกทั้งโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น คน ข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยี วัตถุ จินตนาการ ฯลฯ ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจะว่าด้วยเรื่องของการแพทย์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ความเข้าใจในเชิงสังคมต้องเข้ามามีส่วนในการพัฒนาระบบบริการไปด้วยกัน และสังคมควรร่วมตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ท่ามกลางความท้าทายหลากหลาย อาทิ ภาวะสังคมสูงวัยเต็มขั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการตาย ทั้งในเชิงจำนวน ลักษณะ และความต้องการการดูแลในระยะท้ายและการดูแลอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรม เกิดการไหลบ่าของชนชาติต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ทำให้เกิดความคาดหวังต่อระบบบริการสุขภาพ ซึ่งตามหลักมนุษยธรรม ระบบสาธารณสุขไทยต้องให้การดูแลอย่างเหมาะสมครอบคลุมกลุ่มชนชาติต่างๆ ด้วย ภาวะผู้มีความต้องการเฉพาะ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อัตลักษณ์และการดูแลที่ต้องการคืออะไร ฯลฯ ดังนั้นการค้นหาความต้องการของผู้ป่วยระยะท้ายในภาวะต่างๆ จึงต้องมีความเข้าใจในแต่ละบริบท เพื่อนำไปสู่การค้นพบความต้องการและเชื่อมต่อการดูแลที่เหมาะสมที่สุด
นพ.ภรเอก มนัสวานิช หัวหน้าศูนย์ชีวาภิบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. กล่าวว่า การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ การเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลกับบ้าน ครอบครัว และชุมชน ซึ่งมีหลายประเด็นที่ควรมีการจัดการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนการดูแล การประเมินความพร้อมของญาติและผู้ดูแล การให้การสนับสนุนกับครอบครัวหรือชุมชนในเรื่องของยา เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์จำเป็น เช่น ออกซิเจน อุปกรณ์ทำแผล ฯลฯ ช่องทางการติดต่อเร่งด่วนระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับญาติและผู้ดูแล การอยู่เวรและค่าเวรของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระบบการติดตามผู้ป่วยและผู้ดูแล การเข้าถึงบริการในชุมชน บทบาทของอาสาสมัคร การใช้สิทธิรักษาพยาบาลข้ามเขต การเบิกจ่ายค่าอาหารผู้ป่วยและอุปกรณ์การดูแล การเสียชีวิตที่บ้าน ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายสามารถกลับไปอยู่ที่บ้าน และมีความเป็นอยู่ให้ดีที่สุดจนถึงวันสุดท้าย
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในระบบสุขภาพยังมีช่องว่างความรู้ของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องเผชิญกับภาวะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สวรส.จึงได้บริหารจัดการงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับระบบสุขภาพของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาระบบการบริการการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของประเทศไทย รวมถึงการนำข้อเสนอจากงานวิจัยเสนอเข้าสู่ระบบการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลของ สรพ. เพื่อให้พัฒนาเป็นประเด็นหนึ่งในการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลที่เป็นการต่อยอดคุณภาพเฉพาะด้านต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit