นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องและมีความสำคัญต่อการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยในปี 2560 ที่ผ่านมานั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับการส่งออกปี 2559 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป นำเข้ารองเท้าและกระเป๋าเดินทางจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการหนังดิบหนังฟอกในจีนและเวียดนามยังมีปริมาณสูงอยู่ จึงนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งด้านการจ้างงาน การลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออก นอกจากนี้ไทยยังมีความได้เปรียบในเรื่องการผลิตสินค้าที่มีความประณีตและมีคุณภาพ รวมทั้งมีการส่งมอบสินค้า ที่ตรงเวลาเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการกระตุ้นยอดขายและการสั่งซื้อได้เพิ่มมากขึ้น
"ที่ผ่านมากรมฯ ได้พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี โดยเฉพาะการสร้างตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของไทยให้เทียบชั้นนานาชาติและการพัฒนาในลักษณะการรวมกลุ่มเป็น "คลัสเตอร์" โดยการดึงศักยภาพของสมาชิกที่มีแนวคิดพัฒนาให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกิดผลิตภาพและนวัตกรรม สร้างความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย มีเอกลักษณ์ สร้างความแตกต่างและประโยชน์ใช้สอยในลักษณะที่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เน้นเรื่องแฟชั่น ไลฟ์สไตล์และสุขภาพ เน้นการใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิตเพื่อรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เช่น นวัตกรรมรองเท้าเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์แฟชั่นสมัยใหม่ เป็นต้น ดังนั้น การรวมกลุ่มของคลัสเตอร์เครื่องหนังที่เข้มแข็งและเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดเป็น Value Chain ตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมเครื่องหนัง และรองเท้าไทย ให้สามารถเชื่อมต่อกับ Supply Chain ของอุตสาหกรรมเครื่องหนังของโลกได้" อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว
ด้านนายวิโรจน์ เศรษฐโชตินันท์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังไทย กล่าวว่า กลุ่มคลัสเตอร์ เครื่องหนังไทยมีการรวมกลุ่มกันและได้รับการพัฒนาสนับสนุนจาก กสอ. ที่ช่วยให้คำแนะนำในด้านต่าง เช่น การทำตลาดเพิ่มขึ้น การออกแบบและพัฒนาสินค้าด้วยดีไซน์ การสร้างแบรนด์ และการทำตลาดออนไลน์ผ่านe-commerce พร้อมทั้งนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ผ่านการอบรมสัมมนาในโครงการต่าง ๆ ของ กสอ.จึงทำให้กลุ่มมีความแข็งแรงสามารถที่จะแข่งขันได้ในตลาด โดยในปีที่ผ่านมาได้เข้าร่วมงาน Thailand Industry Expo ของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการประกาศให้ผู้ซื้อได้รู้ว่ามีแบรนด์เครื่องหนังไทยมีคุณภาพทั้งกระเป๋า รองเท้า รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากหนัง ส่งผลต่อการการันตีรายได้ของสมาชิกในกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องหนังที่มีมากกว่า 10 ราย เพิ่มขึ้น 20-30% จากปีก่อน ๆ ทั้งนี้ เทรนด์ของเครื่องหนังในปีนี้ จะเน้นในเรื่องของนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยการนำนวัตกรรมเครื่องทดสอบแรงกดฝ่าเท้ามาใช้ ซึ่งเป็นการคิดค้นของสมาชิกในกลุ่มราคาประมาณ 70,000 บาท ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวมีราคาแพงหากมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศจะตกอยู่ที่ราคา 2-3 แสนบาท ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถนำมาพัฒนาเพื่อการออกแบบรองเท้าสำหรับคนเท้าล้ม หรือเท้าแบน ที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการเดินได้โดยเครื่องทดสอบดังกล่าวจะนำมาจัดแสดงภายในงานแฟนพันธุ์แท้เครื่องหนังไทยในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ในการจัดงานครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นำสินค้ามาจัดแสดงเป็นแบรนด์ของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากทาง กสอ.อาทิ แบรนด์ Cumi Tata Lamb และ Sairy
สำหรับงาน "แฟนพันธุ์แท้เครื่องหนังไทย"ครั้งที่ 12 ประจำปี 2561 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 30 มีนาคม 2561 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 1 อาคาร กสอ. ซึ่งภายในงานนอกจากจะมีการจัดแสดงสินค้าที่สร้างสรรค์โดยฝีมือคนไทยมาจัดแสดงและจำหน่ายแล้ว ยังมีการตรวจสุขภาพเท้าอีกด้วย ซึ่งนับเป็นอีกเวทีที่สำคัญในการแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยให้เป็นที่ประจักษ์และแพร่หลายมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจผลิตภัณฑ์จากเครื่องหนังในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับกับกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย