ภายในงานซึ่งจัดบริเวณชั้นนิทรรศการหลักชั้น 8 มีการแสดงสดโดยเพื่อนศิลปินคู่พ่อลูก คีตาญชลี ก่อนการกล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติโดย ผศ ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเป็นกล่าวแนะนำนิทรรศการโดยภัณฑารักษ์ร่วม อดุลญา ฮุนตระกูลและศิลปิน วสันต์ สิทธิเขตต์ ตามด้วยกล่าวเปิดงานโดยประธาน คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งได้กล่าวรำลึกถึงการก่อตั้งหอศิลปกรุงเทพฯ โดยมีวสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นหนึ่งในศิลปินหลักผู้สนับสนุนการมีหอศิลป์กลางเมือง หลังจากนั้นศิลปินได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ร่วมงานอีกครั้งด้วยการแสดงหนังตะลึง หรือละครเงา ซึ่งศิลปินได้สร้างขึ้นโดยใช้บุคลิกลักษณะของนักการเมืองและบุคคลสำคัญมาเป็นรูปลักษณ์ในการสื่อสารกับผู้ชม
หลังจากนั้นแขกผู้มีเกียรติร่วมเดินชมผลงานกว่า 100 ชิ้นที่จัดแสดงบริเวณชั้นนิทรรศการชั้น 8 ตามอัธยาศัย ซึ่งผลงานเหล่านี้กระจายออกเป็น 5 หัวข้อ นำเสนอผลงานตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากการมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของศิลปินเพื่อทำความเข้าใจถึงแก่นของความคิดและผลงานใน "อุดมคติและอุดมการณ์" (Ideals and Ideology) ต่อด้วยการตั้งคำถามถึงวิธีการสร้างสรรค์ผลงานและการแสดงออกของศิลปินผ่าน "อำนาจ กับ ไร้อำนาจ" (Powerful vs Powerless) "ความดิบเถื่อนคืออาวุธ" (Raw Aesthetic as a Weapon) และ "ใบหน้า เรือนร่าง และเสรีภาพ" (Face, Figure and Liberty) แล้วมองความเป็นปัจจุบันสมัยจากกิจกรรมทางสังคมที่ศิลปินมีส่วนร่วมใน "โลกสวยด้วยประท้วง" (Protest And Making The World A Better Place)
นอกจากผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงแล้ว ห้องสมุดศิลปะ บริเวณชั้น L ยังมีหนังสือที่เขียนโดยศิลปิน วสันต์ สิทธิเขตต์ มาวางให้ผู้สนใจได้อ่านติดตามผลงานเขียนของศิลปินอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit