นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS เปิดเผยว่าในปัจจุบันมีกระแสข่าวลบหลายอย่างเกิดขึ้นกับบริษัทฯ จึงอยากชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจนทั้งหมด โดยเริ่มจากความวิตกเกี่ยวกับเรื่องการยกร่างพ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน และให้มีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่มากำกับดูแลโดยเฉพาะ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป อีกทั้งมีการคาดการณ์กันเองว่าอาจจะมีการกำหนดให้มีการคำนวณดอกเบี้ยที่ร้อยละ 15
ต่อประเด็นดังกล่าว เชื่อว่าเมื่อมีการบังคับใช้จะส่งผลดีกับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการดูแลให้การให้บริการทางการเงินมีคุณภาพ ประชาชนได้รับการดูแลไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกกลุ่มทุนนอกระบบ ที่สำคัญ คือการก่อเกิดหน่วยงานกำกับดูแลที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการทำงานง่ายขึ้นด้วยและมีความเท่าเทียมในการดำเนินธุรกิจ ส่วนประเด็นเกณฑ์ในการคำนวณดอกเบี้ยขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปออกว่าจะให้คิดเป็นร้อยละเท่าใด แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีการนำฐานข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยและกฎเกณฑ์ของการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ ที่ได้เคยอนุมัติมาก่อนหน้านี้ใช้เป็นส่วนประกอบ อาทิ กระทรวงการคลังได้ออกใบอนุญาตปล่อยเงินกู้ พิโก ไฟแนนซ์ (Pico Finance) คิดดอกเบี้ย 36% แบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้น การที่วิตกกังวลว่าจะให้คิดดอกเบี้ย 15% จึงเป็นไปไม่ได้
นายชูชาติกล่าวต่ออีกว่า ยังมีกระแสข่าวลบอีกสองเรื่อง คือกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ดำเนินคดีกับบริษัทฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือไม่มีความจริงใดๆ ทั้งสิ้น บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง ไม่เคยถูก DSI ดำเนินคดีใดเลย
กระแสข่าวลบสุดท้ายคือ MTLS ทำธุรกิจ "ลิสซิ่งหรือเช่าซื้อ"ด้วย แต่ความจริงคือ "บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง" ในชื่อบริษัทแม้จะมีคำว่า "ลิสซิ่ง" แต่ทำธุรกิจเพียงอย่างเดียวคือการ "ปล่อยสินเชื่อ" ดังนั้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ในเดือนเมษายนนี้ จึงจะขอมติจากผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC" นั้น เพื่อขจัดความเข้าใจผิดของทุกคนและให้เข้าใจถูกต้องตรงกันว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจ "สินเชื่อ" มิใช่ "เช่าซื้อ"
"ตอนนี้มีกระแสข่าวลือและข่าวลบเข้ามามาก ผมจึงอยากชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ไม่มีอะไรต้องกังวลหรือเป็นห่วงเลย ในด้านของการดำเนินธุรกิจสำหรับ MTLS ยังสามารถเติบเติบได้อย่างดียิ่ง คาดว่าปี 2561 จะขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่อง จากยอดการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท โดยเราให้ความสำคัญเรื่องของการควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างรัดกุม เพื่อทำให้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL คงอยู่ระดับไม่เกิน 1.5 % ขณะเดียวกันถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และบริษัทฯยังมีเป้าหมายเพิ่มลูกหนี้คงค้างสิ้นปีให้มาอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจาก 3.5 หมื่นล้านบาท"
นายชูชาติกล่าวต่อในช่วงท้ายว่า การที่สินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เนื่องจากมีจำนวนสาขามากขึ้น โดยมีเป้าหมายขยายสาขาแตะ 4,000 แห่งในปี 2563 ครอบคลุมทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ที่ 2,500 แห่ง ดังนั้น เมื่อจำนวนสาขาเพิ่มทำให้บริษัทฯ สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นเช่นกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit