ไตรมาส 1 จีดีพีเกษตร พุ่ง 3.8 % ย้ำความเชื่อมั่น ทั้งปี ทุกสาขายังขยับต่อเนื่อง

22 Mar 2018
สศก. เผย จีดีพีเกษตรไตรมาสแรก ขยายตัว ร้อยละ 3.8 ระบุ ทุกสาขาการผลิต ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ พาเหรดขยายตัวเพิ่ม มั่นใจ นโยบายด้านการเกษตร บวกเศรษฐกิจโลกที่สดใส ดันทั้งปียังขยับต่อเนื่อง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2561 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัวได้ดี คือ ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำสำคัญ มีเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช มีการบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม ประกอบกับสภาพอากาศในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเอื้ออำนวยต่อการผลิต ทำให้พืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิดมีทิศทางเพิ่มขึ้น แม้ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่สำคัญ จะประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนที่ออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสนี้ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วไม่กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรมากนัก สำหรับการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมีระบบการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนการผลิตสินค้าประมง การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ส่วนการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอและสภาพอากาศเอื้ออำนวย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาการเกษตรในหลายด้าน เช่น ตลาดนำการผลิต การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบูรณาการในระดับพื้นที่ รวมถึงการน้อมนำหลักการทรงงานและเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ โดยได้มีการดำเนินการภายใต้นโยบายด้านการเกษตรที่สำคัญต่าง ๆ และเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศมากขึ้น อาทิ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer บริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลาดสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การวางแผนการผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าที่มีต่อสินค้าเกษตรไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มดีขึ้น

สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืชในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย สำหรับ ข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางสามารถปลูกข้าวนาปีรอบสองได้ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกแทนการปล่อยพื้นที่ให้ว่าง อ้อยโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโรงงานแทน รวมถึงโรงงานน้ำตาลมีการสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกอ้อย

สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2558 – 2559 อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่าง รวมทั้งปลูกแซมในสวนยางพารา และปลูกใหม่ทดแทนมันสำปะหลัง ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2555 มีการปลูกต้นยางแทนพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และพื้นที่ตัดโค่นต้นยางที่มีอายุมากแล้วปลูกใหม่ทดแทน ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ประกอบกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์ม จึงทำให้ต้นปาล์มสมบูรณ์และมีทะลายเพิ่มขึ้น ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิต และมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการออกดอกติดผล ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 สินค้าพืชที่มีราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และลำไย โดย ข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกมีความต้องการข้าว เพื่อทยอยส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลัง มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการส่งออก และ ลำไย มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการปรับปรุงคุณภาพของลำไยให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

สาขาปศุสัตว์ในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.4 เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิตตามความต้องการบริโภค ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาด และจัดการฟาร์มได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าปศุสัตว์หลัก ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2561 สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยราคาสุกร ไข่ไก่ ลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำนมดิบค่อนข้างทรงตัว ส่วนราคาไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการผลผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น

สาขาประมงในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำพอเพียงสำหรับการเลี้ยง ประกอบกับภาครัฐมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ผลผลิตประมงน้ำจืดเพิ่มขึ้น ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2561 ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม) ปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย (ขนาด 2 – 4 ตัวต่อกิโลกรัม) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลง ซึ่งเป็นการลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยเกษตรกรมีการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเกี่ยวนวดข้าวตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าว นาปรัง และปริมาณน้ำฝนเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปี นอกจากนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกอ้อยโรงงาน มีการใช้บริการ เก็บเกี่ยวอ้อยเพิ่มขึ้น เพราะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจากการส่งเสริมของโรงงานน้ำตาล

สาขาป่าไม้ในไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา ถ่านไม้ และครั่ง เพิ่มขึ้น โดยความต้องการไม้ยูคาลิปตัสภายในประเทศสูงขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (wood pellet) ขณะที่ไม้ยางพารายังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน นอกจากนี้ ผลผลิตครั่งฟื้นตัวเต็มที่จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้มีมูลค่าการส่งออกครั่งในเดือนมกราคม 2561 เพิ่มสูงถึง 3 เท่าตัว

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2560 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ ปริมาณน้ำและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยมีทิศทางที่ดี ส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตและราคาสินค้าเกษตรในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร อาทิ ความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และโรคระบาดต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรในระยะต่อไปได้

สาขา

ไตรมาส 1/2561 (มกราคม – มีนาคม 2561)

ภาคเกษตร

3.8

พืช

4.7

ปศุสัตว์

1.4

ประมง

1.5

บริการทางการเกษตร

3.6

ป่าไม้

2.2