นางสาวรัมภ์รดา กล่าวว่า ตัวแทน AIBD เคยลงพื้นที่มาสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เน้นยึดคนเป็นศูนย์กลาง และมีการวางแผนการพัฒนาในระยะยาว โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ อยู่รอด พอเพียง และอย่างยั่งยืน เมื่อปี 2560 โดยเล็งเห็นว่าเป็นตัวอย่างงานพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันรวมถึงอนาคต จึงอยากให้ทางมูลนิธิฯ นำองค์ความรู้ดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนในเวทีเอเชียแฟซิฟิก ร่วมกับตัวแทนระดับชาติที่เชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินเดีย ประเทศภูฏาน ประเทศบังคลาเทศ และประเทศเกาหลีใต้ โดยสื่อมวลชนหลายประเทศสนใจและให้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงประเทศอินเดียเจ้าภาพจัดงาน
นางสาวรัมภ์รดา กล่าวต่ออีกว่า AIBD เป็นเวทีแลกเปลี่ยนการพัฒนาทรัพยากรด้านสื่อสารมวลชนระดับสากล ที่ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่มีอยู่ทั้งหมด 17 เป้าหมาย ซึ่งในปัจจุบันตัวอย่างของการทำแล้วประสบความสำเร็จมีไม่มาก แต่ AIBD กลับยกให้โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางมูลนิธิฯ ทำงานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติด และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่จนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์
"การนำเอาเรื่องราวโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ไปพูดคุยแลกเปลี่ยน เป็นการเผยแพร่ให้คนทั่วโลกที่สนใจในเรื่องนี้เห็นว่า ถ้าทำต่อเนื่องและใช้หลักการพัฒนาของทางมูลนิธิฯ โดยที่ศึกษาปัญหาของคนจริงๆ และทำการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน จะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้" ประธานสายบริหารงานพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ระบุ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit