นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นที่รู้จัก และเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ชั้นนำระดับโลก ทีเส็บจึงได้ดำเนินงานเพื่อพัฒนาและโปรโมทประเทศไทยสู่สายตาคนทั่วโลกในฐานะหนึ่งในจุดหมายปลายทางไมซ์และยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่อยู่ในตำแหน่ง Top of Mind destination for MICE และเพื่อให้สามารถนำจุดขายที่สำคัญ มาส่งเสริมและพัฒนาประเทศไทยให้ได้รับเลือกเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานไมซ์ในใจนักธุรกิจทั่วโลก ทีเส็บจึงศึกษาปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกจุดหมายปลายไมซ์ ประเมินภาพลักษณ์จุดหมายปลายทางไมซ์ที่ตลาดต้องการ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับไมซ์ในประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ ทีเส็บมอบหมายให้ บริษัท คัสต้อม เอเซีย จำกัด ซึ่งเป็นสมาชิกของ Global Market Research Association ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 39 ประเทศทั่วโลก ทำการสำรวจภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์ ดำเนินการศึกษาสำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกกว่า 20 ประเทศที่มีต่อประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาในครั้งนี้เป็นภาพที่สะท้อนจากมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมไมซ์ที่ถูกสำรวจเชิงคุณภาพผ่านรูปแบบ ออนไลน์บุลาตินบอร์ด (Online Bulletin Board) จำนวน 40 ราย และแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 649 ราย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ประกอบการไมซ์ (MICE Players) อันประกอบด้วยธุรกิจงานประชุม อินเซนทิฟ การประชุมนานาชาติ และงานแสดงสินค้านานาชาติ 2. กลุ่มนักธุรกิจ (Business Travelers) 3. กลุ่มนักเดินทางไมซ์ (MICE Visitors)และ 4. กลุ่มสมาคมหรือองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวกับไมซ์ (Associations/Organizations)
"จากการสำรวจทัศนคติที่มีต่อจุดหมายปลายทางไมซ์ในภาพรวม พบว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ที่ได้รับความนิยม และนักเดินทางไมซ์อยากกลับมาจัดกิจกรรมไมซ์ซ้ำเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นอันดับสองและสามตามลำดับ โดยปัจจัยที่สร้างความประทับใจเป็นพิเศษของประเทศไทย คือ ความเป็นมิตรการต้อนรับของผู้คน ความคุ้มค่า และความหลากหลายของอาหารนานาชาติ และกิจกรรมไมซ์ ส่งผลให้นักเดินทางไมซ์ที่เคยเดินทางมาจัดงานหรือร่วมงานไมซ์ในประเทศไทย กว่าร้อยละ 85 ยินดีที่จะกลับมาจัดงานหรือร่วมงานไมซ์ในประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ
จัดอันดับ 10 ประเทศจุดหมายปลายทางยอดนิยมนักเดินทางไมซ์อยากกลับมาจัดกิจกรรมไมซ์ซ้ำ
ไทย
ญี่ปุ่น
สิงคโปร์
ฮ่องกง
ออสเตรเลีย
สหรัฐอเมริกา
เยอรมนี
สวิสเซอร์แลนด์
อังกฤษ
จีน
นอกจากนี้ยังปรากฏว่าประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับแรก (1st rank) ที่กลุ่มตัวอย่างให้ความนิยม โดยมีภาพลักษณ์โดดเด่นใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. ความต้องการพื้นฐาน ได้แก่ ศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางสะดวก ที่พักได้มาตรฐานระดับสากล สิ่งอำนวยความสะดวกชั้นเยี่ยม 2. ความประทับใจ ได้แก่ การบริการต้อนรับของผู้คน และอาหาร 3. ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ได้แก่ ประเพณีและวัฒนธรรม และธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษนอกเหนือจากงานไมซ์มากมายให้เลือก มีการเดินทางเข้า-ออกประเทศสะดวก มีโอกาสทางธุรกิจ และเป็นประเทศที่มีความเป็นเอกลักษณ์ นายจิรุตถ์ กล่าว
จุดแข็งของประเทศไทย สู่การเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์
ความต้องการพื้นฐาน
ความประทับใจ
ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร
ศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางสะดวก
ที่พักมีมาตรฐานระดับนานาชาติ
สิ่งอำนวยความสะดวกชั้นเยี่ยม
การบริการต้อนรับ
อาหาร
ประเพณีและวัฒนธรรม
ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
นายสุกิจ ตันสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คัสต้อม เอเซีย จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่าปัจจัยพื้นฐานที่จุดหมายปลายทางไมซ์จำเป็นต้องมี คือ ความคุ้มค่าเงิน มีที่พักที่ได้มาตรฐานสากล การเดินทางไป-กลับจากประเทศที่จัดกิจกรรมไมซ์มีความสะดวกทั้งโดยเครื่องบินและรถไฟ ความเชี่ยวชาญในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และการกำกับดูแลที่ดีสอดคล้องตามหลักนโยบายการดำเนินธุรกิจ / หลักบรรษัทภิบาล
และเมื่อวิเคราะห์โดยจำแนกปัจจัยเด่นตามกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง พบว่า ผู้ประกอบการไมซ์จะคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางในประเทศ นักเดินทางไมซ์คำนึงถึงการต้อนรับและความคุ้มค่า นักธุรกิจจะคำนึงถึงภาพลักษณ์และชื่อเสียงของจุดหมายปลายทางที่ดี ส่วนสมาคมและองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ จะคำนึงถึงการควบคุมในเรื่องต้นทุนด้านที่พัก ความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ และจุดหมายปลายทางที่มีความโดดเด่นและแตกต่าง
เมื่อเจาะด้านกิจกรรมที่สร้างความประทับใจสำหรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ คือ การประชุมเจรจาธุรกิจที่ทำนัดไว้ล่วงหน้าในระหว่างเข้าร่วมงาน งานเลี้ยงอาหารค่ำที่งานประชุม และงานแสดงวัฒนธรรม / โชว์การแสดงซึ่งจัดขึ้นภายในงานประชุมนานาชาติหรืองานแสดงสินค้านานาชาติ ตามลำดับ ดังนั้นผู้ประกอบการไมซ์ในประเทศไทย จึงควรให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ ประกอบกับทีเส็บเองจะต้องมีการสื่อสารเกี่ยวกับประเทศไทยให้มากขึ้นในเรื่องของการเดินทางภายในประเทศที่ง่ายและสะดวก มีโอกาสทางธุรกิจที่ดี มีกิจกรรมพิเศษนอกเหนือจากงานไมซ์มากมายให้เลือก อาหารในระดับเวิลด์คลาส และการมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อให้ตรงกับภาพลักษณ์ของประเทศที่จัดกิจกรรมไมซ์ในอุดมคติ
"จากข้อมูลพบว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยในปัจจุบันจึงควรมุ่งเน้นไปที่จุดแข็งที่มีอยู่ปัจจุบัน คือการอำนวยความสะดวกทุกด้าน การสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับผู้ที่เข้าร่วมงาน และความเป็นเอกลักษณ์ทั้งในด้านบริการและการต้อนรับ ประเพณีวัฒนธรรม และอาหารของประเทศไทย" นายสุกิจ กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่ยืนยันได้ถึงศักยภาพของประเทศไทยในความพร้อมเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก คือ การที่สมาคมธุรกิจไมซ์ระดับโลกต่างวางใจและเชื่อมั่นประเทศไทย ที่จะสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมครั้งใหญ่ประจำปีของแต่ละสมาคมได้ โดยระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 2562 ณ ไอคอนสยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะเกิดการจัดงาน 86th UFI Global Congress 2019 การประชุมของกลุ่มธุรกิจงานแสดงสินค้า (เอ็กซิบิชั่น) รายการใหญ่ที่สุด คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 450 คน และระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2562 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม SITE Global Conference 2019 ซึ่งสมาคม SITE เป็นองค์กรระดับโลกเพียงแห่งเดียวที่ดำเนินงานด้านสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล มีจำนวนสมาชิกกว่า 2,100 สมาชิก จาก 84 ประเทศ และมีเครือข่ายสาขาของสมาชิกในภูมิภาคเดียวกันจำนวน 29 กลุ่มจากทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งสำคัญนี้สำหรับอุตสาหกรรมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 400 คน ซึ่งจะจัดขึ้น ณ โรงแรมแชงกรี-ลา
"การมอบความไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมระดับนานาชาติทั้งสองครั้งนี้ จะเป็นโอกาสดีที่ไทยได้แสดงศักยภาพต่อผู้นำธุรกิจอีเว้นท์และอินเซนทีฟจากทั่วโลก ทำให้ผู้จัดงานไมซ์จากหลายแห่งได้พิจารณาหรือแนะนำประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานสำหรับลูกค้ามากขึ้นเมื่อมาเห็นผลิตภัณฑ์และความพร้อมของบุคลากร ตลอดจนสถานที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง" นายจิรุตถ์ กล่าวโดยสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
นางสาวขวัญชนก อดทน ผู้ปฏิบัติการอาวุโส โทรศัพท์ 02-694-6000 อีเมล [email protected]
นายอิศรา โรจนกุศล เจ้าหน้าที่ประสานโครงการฯ โทรศัพท์ 02-694-6181 อีเมล [email protected]
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ เอ พับลิซิสท์ โทร. 02 793 4546
คุณอาภาภรณ์ (เอ) 089 788 4868, คุณธิษตยา (แจง) 094 323 5641, คุณสรศักดิ์ (เอิร์ธ) โทร. 089 406 5544
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit